เรื่องเด่น ย้อน 44 ปี “พระธาตุพนม ถล่มเสียหาย” ตำนานศักดิ์สิทธิ์ สู่จุดรับพลังในเอเชีย

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 21 มกราคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2518 ได้เกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ขึ้นที่องค์พระธาตุพนม ลามจากส่วนบนที่เริ่มปริร้าวลงมายังฐาน ทำให้เริ่มเอียงจากแกนเดิม ต่อมาเข้าช่วงฤดูฝน ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีฝนตกหนักเกือบทุกวัน และมีลมแรงพัดตลอดเวลารอยร้าวที่มีแต่เดิมเริ่มแยกออกกว้างขึ้น

    เหมือนฟ้าผ่าลงมากลางใจคนไทยทั้งประเทศ เมื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านไทย – ลาว สักการบูชากราบไหว้ ได้ถูกพายุฝนพัดกระหน่ำลงมารุนแรงหลายวันติดต่อกัน ส่งผลให้ ความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลา 19.38 น. สร้างความโศกเศร้าต่อพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขง ความเสียหายในครั้งนั้นมิได้ทำให้ประชาชนล้มเลิกศรัทธา ประชาชนยุคสมัยนั้นร่วมใจกันบริจาคทุนทรัพย์ เพื่อก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ รัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เสร็จสิ้นลงใน พ.ศ. 2522 ลักษณะพระธาตุเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูง งดงามสง่าเหมือนองค์เดิม

    b8b5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980.jpg
    ภาพจากเว็บ watpamahachai
    b5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980-1.jpg
    ภาพจากเว็บ watpamahachai

    ต่อมาในวันที่ 23 มีนาคม 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระอุรังคธาตุ) ขึ้นบรรจุในองค์พระธาตุพนม ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม จากนั้นเป็นต้นมา พระธาตุพนม ที่พังทลายลงตามกาลเวลา ก็กลับมาตั้งตระหง่านสูงเสียดฟ้า ณ ริมฝั่งโขง ให้ประชาชนได้สักการะดั่งศูนย์รวมใจยึดมั่นศรัทธาของพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขงไทยลาว

    – องค์พระธาตุพนม พังทลาย หัวใจพี่น้องไทย ร้าวระทม –


    สาเหตุการพังทลายขององค์พระธาตุ ไม่ได้ทรุดที่ฐาน แต่เริ่มจากยอดที่มีน้ำหนักมาก ในแนวดิ่งมากดคอบัวฐานชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ให้บิออกเป็นแนวฉีกลึกไปในเจดีย์ เพราะอิฐเปียกยุ่ยจากฝนที่ตกติดต่อกันอย่างหนัก ขณะเดียวกันอิฐผนังที่ยุ่ยอยู่แล้วก็ค่อยๆ ทลายลงเป็นแถบๆ ยอดเจดีย์กด พุ่งลงมาตามแนวดิ่งหักลงเป็นท่อนๆ องค์พระธาตุได้ล้มฟาดลงมาทางทิศตะวันออก แตกหักออกเป็นท่อน มีลักษณะเป็น 3 ตอน

    ตอนที่ 1 คือฐานชั้นล่างที่ก่อด้วยอิฐแดงจำหลักลวดลายสูง 8 เมตร คือตอนที่เก่าที่สุด สร้างด้วยอิฐเรียงสอด้วยวัตถุเหนียวแตกทับตัวเอง หลุดร่วงและล้มเป็นกองเศษอิฐแตกกระจายออกทั้ง 4 ด้าน พูนขึ้นเป็นกองอิฐขนาดใหญ่

    ตอนที่ 2 ระหว่างเรือนธาตุชั้นที่ 2 กับฐานบัลลังก์เป็นส่วนที่ได้รับการบูรณะในภายหลังแตกออกเป็น 2 ท่อน ท่อนล่างละเอียดหมด ท่อนบนยังดีอยู่ ล้มกองไปตามทางทิศตะวันออก

    ตอนที่ 3 คือส่วนยอดที่สร้างครอบยอดเดิมไว้เมื่อครั้ง พ.ศ. 2483 เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กยาวประมาณ 20 เมตร (ความสูงใหญ่ 10 เมตร ระยะของความสูงเดิมจากฐานบัลลังก์ขึ้นไป) หักล้มไปทางทิศตะวันออก ทับศาลาการเปรียญหรือโรงธรรมสภาแหลกละเอียด และหอพระแก้วราบทลายลงไปทั้งสองหลังเฉพาะหอพระแก้วเหลือแต่เพียงมุขด้านหน้าไว้เท่านั้น ส่วนฉัตรที่ทำด้วยทองคำสวมยอดพระธาตุนั้น เอนปะทะพิงอยู่กับผนังหอพระแก้ว ความเสียหายของฉัตรบุบสลายเพียงเล็กน้อย

    b5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980-2.jpg
    ภาพจากเว็บ watpamahachai
    b5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980-3.jpg
    ภาพจากเว็บ watpamahachai
    b5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980-4.jpg
    ภาพจากเว็บ watpamahachai
    – ความเสียหายที่เกิดขึ้นทันที มีอะไรบ้าง –


    จากการตรวจสอบพบว่า กำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุพนมชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2, หอข้าวพระทรงปราสาทยอดมณฑป ซึ่งสร้างในสมัยเจ้าพระยานครหลวงพิชิตทศทิศราชธานีศรีโคตรบูรหลวงบูรณะพระธาตุพนมเมื่อ พ.ศ. 2153, ศาลาการเปรียญหรือโรงธรรมสภาสร้างเมื่อ พ.ศ. 2466 , วิหารหอพระแก้ว หรือวิหารหลวง แรกสร้างในสมัยพระเจ้าโพธิสารได้บูรณะพระธาตุพนม เมื่อราว พ.ศ. 2073, หอพระด้านทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนพระอุโบสถซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของหอพระแก้ว รอดพ้นอันตรายไปได้อย่างหวุดหวิด เพราะอาคารทั้งสองสร้างอยู่ใกล้ชิดกันมาก (ระยะห่างเพียง 5 เมตรเท่านั้น)

    จากการศึกษาของคณะอนุกรรมการ เพื่อรักษาสภาพเดิมขององค์พระธาตุพนม และบริษัทวิศวกรรมที่เข้ามาศึกษาหาสาเหตุภัยพิบัติ ได้ตั้งสมมติฐานไว้ เนื่องจาก 1. ฐานรากขององค์พระธาตุทรุดตัวไม่เท่ากัน ทำให้อาคารเสียการทรงตัว 2. วัสดุก่อสร้างซึ่งสร้างมานาน เป็นอิฐบางส่วนเสื่อมสภาพไม่สามารถรับน้ำหนักดีเท่าด้านอื่น ทำให้เสียศูนย์ จึงล้มพังทลาย 3. แรงกดน้ำหนักภายในของวัสดุในองค์พระธาตุพนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความชื้น จนผนังอิฐบางส่วนทนรับน้ำหนักไม่ไหว แตกร้าวล้มในที่สุด

    – รากฐานดีมาก ไม่มีการทรุดตัวของชั้นดินโดยรอบ –


    จากการศึกษาของบริษัทวิศวกรรมได้ขุดศึกษาชั้นดินลงมาพบชั้นกรวดในระดับความลึก 20 เมตร ซึ่งจัดว่าเป็นชั้นรากฐานที่ดีมาก และไม่มีการทรุดตัวของชั้นดินโดยรอบเลย ประเด็นในข้อที่ 1 จึงตกไป ส่วนในข้อที่ 2 และ 3 นั้น มีเค้าความเจริญอยู่มาก แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในกรณีทั่วๆ ไป เป็นพฤติกรรมต่อเนื่องที่สร้างสมติดต่อกันมาไม่น้อยกว่าสามสิบปี กล่าวคือ เมื่อมีการต่อยอดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ ในปี พ.ศ. 2483-2484 นั้น ไม่มีการเสริมความแข็งแรงฐานเรือนธาตุทั้งสองชั้นใหม่ ทั้งที่ฐานทั้งสองต้องแบกน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

    b5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980-5.jpg
    ภาพจากเว็บ watpamahachai
    b5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980-6.jpg
    ภาพจากเว็บ horolive
    – แข็งแรงมั่นคงก็พังทลาย –


    ความแข็งแรงเท่าที่มีอยู่ ทำให้เกิดความรอบคอบของท่านราชครูหลวงโพนสะเม็ก โดยการต่อยอดครั้งนั้นได้อัดอิฐดินภายในโพรงอาคารเดิมจนทึบตันรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี และลำพังอิฐก่อสร้างอาคารในส่วนที่ดีอยู่นั้น (อยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 1300-1400) มีความแข็งแรงเกือบเท่าคอนกรีต ความแข็งแรงทั้งหมดนี้จึงแยกน้ำหนักของยอดอาคารองค์พระธาตุได้เป็นอย่างดี เมื่อมีการต่อยอดเสริมขึ้นใหม่นั้น ได้เปิดช่องระบายอากาศทุกด้าน ช่องเหล่านี้เป็นทางให้น้ำฝนสาดเข้าไปได้ แต่ไม่ได้เปิดทางระบายน้ำไว้ เมื่อน้ำเข้าไปช่องเหล่านี้ก็จะไหลไปกองอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งที่ไม่ได้ระดับ น้ำเหล่านี้ค่อยๆ ซึมเซาะอิฐให้เสื่อมสภาพไปอย่างช้าๆ จนฐานรากไม่สามารถรับน้ำหนักท่อนบนไหว พังทลายลงมาทั้งองค์

    – ความเป็นมาของพระธาตุพนม –


    พระธาตุพนมหรือเรียกตามแผ่นทองจารึกซึ่งจารึกไว้ในสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก แห่งนครเวียงจันทน์ มาบูรณะใน พ.ศ. 2236 – 2245 ว่า “ธาตุปะนม” เป็นพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนพระอุระ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ประดับตกแต่งด้วยศิลปะลวดลายอันวิจิตรประณีตทั้งองค์ มีความหมายทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง สูงจากระดับพื้นดิน 53 เมตร ฉัตรทองคำสูง 4 เมตร รวมเป็น 57 เมตร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ห่างจากแม่น้ำโขงอันเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างประเทศลาว กับประเทศไทยประมาณ 500 เมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 800 กิโลเมตร

    ในตำนานพระธาตุพนมกล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกในราว พ.ศ. 8 ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร กำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ โดยท้าวพญาทั้ง 5 อันมีพญาศรีโคตบูร เป็นต้น และพระอรหันต์ 500องค์ อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประมุข ลักษณะ การก่อสร้างในสมัยแรกนั้น ใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม แล้วเผาให้สุกทีหลัง กว้างด้านละสองวาของพระมหากัสสปะ สูงสองวา ข้างในเป็นโพรง มีประตูเปิดทั้งสี่ด้าน

    เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าที่พระมหากัสสปะเถระนำมาจากประเทศอินเดีย ประดิษฐานไว้ข้างใน แล้วปิดประตูทั้งสี่ด้าน แต่ยังปิดไม่สนิททีเดียว ยังเปิดให้คนเข้าไปสักการบูชาได้อยู่บางโอกาส ในตำนานพระธาตุพนมบอกว่า “ยังมิได้ฐานปนาให้สมบูรณ์” นี้ก็หมายความว่า ยังมิได้ปิดประตูพระธาตุ ให้มิดชิดนั่นเอง พึ่งมาสถาปนาให้สมบูรณ์ในราว พ.ศ. 500

    b5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980-7.jpg
    ภาพจากเว็บ horolive
    b5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980-8.jpg
    – ความศักดิ์สิทธิ์ –


    ตามตำนานกล่าวว่า องค์พระธาตุพนมนี้ สร้างมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว โดยพระมหากัสสปเถระ พุทธสาวกองค์สำคัญ และพระอรหันต์ 500 องค์ ร่วมกับเจ้าพญาทั้ง 5 นคร คือ พญาสุวรรณภิงคาร แห่งเมืองหนองหารหลวง พญาคำแดง แห่งเมืองหนองหารน้อย พญาอินทปัตถนคร แห่งเมืองอินตปัต พญาจุลณีพรหมทัต แห่งเมืองจุลณี และพญานันทเสน แห่งเมืองศรีโคตบูร ได้ร่วมกันก่อสร้างองค์พระบรมธาตุ แล้วนำพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานไว้ภายใน ณ ที่บริเวณดอยกปณคีรี หรือ ภูกำพร้า แห่งนี้ เพื่อเป็นหลักพระพุทธศาสนา และเนื้อนาบุญกุศลของทวยเทพและมนุษย์ องค์พระธาตุพนม จึงทรงความศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์เป็นที่น่าอัศจรรย์เรื่อยมา…..

    ดวงวิญญาณของเทพยดา และมนุษย์ นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ และอมนุษย์ทั้งหลาย ได้ไหลลอยเข้ามา และสิงอยู่ตามอิฐปูน และทุกเม็ดทราย ที่เป็นองค์ธาตุพนม เป็นล้านๆ โกฏิๆ ดวง!!! ด้วยความเคารพนบนอบ และหวงแหนองค์พระธาตุพนม ที่เปรียบเสมือนสายโยงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษชาวพุทธ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน ซึ่งจะหาพระมหาเจดีย์เก่าแก่ ทรงคุณค่าทางจิตใจอย่างนี้ได้ยากอย่างยิ่งในเมืองไทย แม้ในทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ก็เป็นสักขีพยานให้เห็นว่า เมื่อเวลานับพันปีล่วงมาแล้ว ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงแถบนี้ ได้เคยรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ในด้านศาสนา ศีลธรรม และประติมากรรมอันยิ่งใหญ่ ที่ทรงคุณค่าทางด้านจิตใจ ยากที่จะหาสิ่งใดมาเปรียบได้

    องค์พระธาตุพนมซึ่งเป็นมหาเจดีย์ที่สำคัญเช่นนี้ จึงมีปรากฏการณ์ เรื่อง “พญานาคราชเจ้าทั้ง 7 พระองค์” ได้เสด็จมาพิทักษ์รักษาองค์พระธาตุพนม และแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ต่างก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคกึ่งพุทธกาล หรือ พ.ศ.2500 นี่เอง เพื่อให้ผู้ที่เกิดมาสุดท้ายภายหลังได้รู้จัก และซึมซับกับเหตุการณ์ดังกล่าว

    b5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980-9.jpg
    – พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง –


    ถือว่าเป็นดินแดนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันดับต้นๆ ของเมืองไทยที่ห้ามพลาด เพราะสถานที่ตั้งพระธาตุพนม เคยมีร่องรอยวัฒนธรรมเก่าแก่ มีชนมนุษย์ที่มีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก นั้นก็คืออาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ได้พากันสร้างพระธาตุองค์นี้เป็นพุทธบูชา อีกทั้งพระธาตุองค์นี้ยังมีพญานาคทั้งเจ็ดตนคอยให้การปกปักรักษาอยู่ เทพพญานาคถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลในเรื่องของการมีโชคลาภ แถมยังคุ้มครองคนที่ปฏิบัติธรรม ให้มีความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องโอกาสอันดีในการมากราบไหว้ขอพร ทั้งนี้ยังถูกจัดให้เป็น สถานที่จุดรับพลังที่ดีที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย

    – พระธาตุประจำคนเกิดปีวอก และ คนที่เกิดวันอาทิตย์ –


    พระธาตุพนม เป็นพระธาตุประจำคนเกิดปีวอก สำคัญมากที่คนปีวอกจะต้องมากราบไหว้ หรือแม้กระทั่งปีปะทะกับปีวอกอย่างเช่น ปีขาล ก็แนะนำให้มาไหว้เพื่ออธิษฐานขอขมากรรมกับเจ้ากรรมนายเวรได้ที่พระธาตุพนม การไหว้พระธาตุ สามารถไหว้ได้โดยของที่ใช้ในการถวายนั้นได้แก่ ธูปสามดอก เทียนคู่ ดอกไม้สีขาว บายศรีขอพรให้มีความสำเร็จตามที่ใจปรารถนา และสำหรับคนที่เกิดวันอาทิตย์ต้องมาสักการะ เพราะเป็นพระธาตุสำหรับคนที่เกิดวันอาทิตย์เช่นกัน อีกบุญหนึ่งที่ดีงามคือการร่วมถวายผ้าห่มพระธาตุเพราะการถวายผ้าต่อพระธาตุพนม จะทำให้ในภพภูมิหน้า เมื่อไปเกิดแล้วจะมีผิวพรรณดี เป็นที่รักต่อผู้ได้พบเห็น ดังนั้นแล้วสักครั้งหากมีโอกาส ให้มาไหว้พระธาตุพนม จะทำให้มีบารมีมาก ขอพรจากองค์พระธาตุ จะทำสิ่งใดก็ประสบผลสำเร็จ

    5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980-10.jpg
    – ภาพถ่ายติดพญานาคโผล่แม่น้ำโขง วันทำบุญ วัดพระธาตุพนม –


    ความแปลกประหลาดชวนขนลุกเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อคนแห่ทำบุญแน่นวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ทำพิธีศักดิ์สิทธิ์สัตนาคารำลึกบูชาพญานาค ฮือฮา ศิษยานุศิษย์พบพญานาคโผล่กลางน้ำโขงนานเกือบครึ่ง ชม. จนเก็บภาพมาได้ ขณะนำปลาไปปล่อย โดยเมื่อเวลา 02.00 น. วันที่ 10 ต.ค. 56 ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พระเทพวรมุนี วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำพุทธศาสนิกชน ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ สัตนาคารำลึก หรือพิธีบวงสรวงพญานาค ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญจัดสืบทอดมานานกว่า 50 ปี ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงก่อนเทศกาลออกพรรษา ในคืนวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยความร่วมมือของจังหวัดนครพนม คณะสงฆ์จังหวัดนครพนม และพุทธศาสนิกชนทั่วสารทิศ เพื่อเป็นการสักการบูชาพญานาค หรือองค์สัตนาคา ทั้ง 7 ตน ผู้ดูแลปกปักรักษา องค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง โดยภายในได้บรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นโอกาสสำคัญที่สมเด็จหลวงพ่อพญานาค หรือองค์สัตนาคา จะได้มีโอกาสมาประทับร่างทรง โปรดพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมทำบุญ รวมถึงปรึกษาปัญหาทั้งทางโลกและทางธรรม ที่ถือปฏิบัติมาแต่อดีต

    ขณะเดียวกันในปีนี้ได้มีศิษยานุศิษย์ คณะลูกศิษย์พระเทพวรมุนี ที่เดินทางมาร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสมทบทุนบำรุงวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จาก กทม. ซึ่งไม่ต้องการที่จะเปิดเผยชื่อ ได้พบเหตุการณ์แปลกประหลาดช่วงกลางวัน ก่อนทำพิธีสัตนาคารำลึก เชื่อว่า เป็นการแสดงปาฏิหาริย์ขององค์พญานาค ภายหลังได้มีการซื้อปลาจากหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จำนวน 67 กิโลกรัม เพื่อนำไปปล่อยที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ด่านตรวจคนเข้าเมืองในเขตเทศบาลตำบลธาตุพนม ได้พบเรื่องปาฏิหาริย์เกิดขึ้น ในช่วงปล่อยปลา ขณะตั้งจิตอธิษฐานให้องค์พญานาคดูแลรักษาปลาที่ปล่อยลงสู่น้ำโขง เพื่อเป็นบุญกุศล เนื่องจากมีความเชื่อว่า องค์พญานาคเป็นผู้ดูแลปกปักรักษาแม่น้ำโขง จนกระทั่งได้พบสิ่งแปลกประหลาด ที่เชื่อว่าเป็นพญานาค

    5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980-11.jpg
    ภาพจากเว็บ horolive

    เนื่องจากมีลักษณะรูปร่างคล้ายพญานาคที่มีในตำนาน โผล่ขึ้นเหนือน้ำ ชูเศียรชัดเจน ลำตัวเป็นสีเหลืองทองอร่าม ความยาวประมาณ 30 – 40 เมตร ลอยวนเวียนไปมาทวนกระแสน้ำเสียงดังถึงริมฝั่ง เป็นเวลาประมาณเกือบ 30 นาที ในระยะห่างจากฝั่งประมาณ 300 – 400 เมตร โดยมีผู้พบเห็นเหตุการณ์ร่วมกันถึง 6 คน สร้างความตกใจให้กับคนที่พบเห็นด้วยกัน จึงตั้งจิตอธิษฐาน ขอพรตามความเชื่อ เพราะเชื่อว่าองค์พญานาคมาปรากฏกายให้เห็น ในโอกาสที่มาร่วมงานสัตนาคารำลึก ที่สำคัญยังสามารถบันทึกภาพนิ่งด้วยกล้องไว้บางส่วน ก่อนนำมาอัดขยายถวายให้กับวัดให้พุทธศาสนิกชนได้ชม และกราบไหว้

    – ลงนามหนังสือถึงศูนย์มรดกโลก เสนอขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อ กรุงปารีส ฝรั่งเศส –


    ในวันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา การประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ลงนามหนังสือถึงศูนย์มรดกโลกในการเสนอพระธาตุพนมเข้าสู่รายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อเบื้องต้นไปยังศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาคณะกรรมการมรดกโลกได้มีการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 2-12 กรกฎาคม 2560 ณ เมืองคาร์คูฟ สาธารณรัฐโปแลนด์ เห็นชอบให้บรรจุพระธาตุพนมไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกตามที่ประเทศไทยนำเสนอ

    ทั้งนี้จังหวัดนครพนมต้องดำเนินการจัดทำเตรียมเอกสารการนำเสนอพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งมรดกโลกให้เสร็จภายใน 1 ปี จากนั้นคณะทำงานมรดกโลกจะลงพื้นที่ศึกษารายละเอียดของพระธาตุพนม คาดว่าอาจใช้อีกเวลาประมาณ 2 ปี เพื่อพิจารณาว่าพระธาตุพนมจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือไม่

    5-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b89ee0b899e0b8a1-e0b896e0b8a5e0b988e0b8a1e0b980-12.jpg

    ขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/content/1474569
     

แชร์หน้านี้

Loading...