สัมมาสมาธิของพระอริยะ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 27 มีนาคม 2013.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [๒๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
    เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิของพระอริยะ
    อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังสัมมาสมาธินั้น จงใส่ใจให้ดี
    เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ

    [๒๕๓] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ
    อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
    สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉนดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งประกอบแล้วด้วยองค์ ๗
    เหล่านี้แลเรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

    [๒๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน
    ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฐิว่ามิจฉาทิฐิ รู้จักสัมมาทิฐิว่าสัมมาทิฐิ
    ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

    [๒๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า
    ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผลผล
    วิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี
    สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้
    โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มีนี้มิจฉาทิฐิ ฯ

    [๒๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมา
    ทิฐิเป็น ๒ อย่าง คือ
    สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑
    สัมมาทิฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

    [๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์
    เป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว
    มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่
    เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้า
    ให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลกมีอยู่ นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ
    ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

    [๒๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ
    เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
    ความเห็นชอบ องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วย
    อริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ
    เป็นองค์มรรค ฯ
    ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฐิ ความพยายามของเธอนั้น
    เป็นสัมมาวายามะ ฯ
    ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาทิฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฐิอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ ฯ
    ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม
    เป็นไปตามสัมมาทิฐิของภิกษุนั้น ฯ

    [๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิ
    ย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาสังกัปปะว่ามิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะ
    ว่าสัมมาสังกัปปะ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

    [๒๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาสังกัปปะเป็นไฉน คือ ความดำริในกาม ดำริในพยาบาท
    ดำริในความเบียดเบียน นี้มิจฉาสังกัปปะ ฯ

    [๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว
    สัมมาสังกัปปะเป็น ๒ อย่าง คือ
    สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑
    สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

    [๒๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ
    ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือความดำริในเนกขัมมะ ดำริในความไม่พยาบาท ดำริในความไม่เบียดเบียน
    นี้สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

    [๒๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ
    เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความตรึก ความวิตกความดำริ ความแน่ว ความแน่
    ความปักใจ วจีสังขาร ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค
    เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
    ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาสังกัปปะ เพื่อบรรลุสัมมาสังกัปปะ ความพยายาม
    ของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ
    ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาสังกัปปะได้ มีสติบรรลุสัมมาสังกัปปะอยู่ สติของเธอนั้น
    เป็นสัมมาสติ ฯ
    ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม
    เป็นไปตามสัมมาสังกัปปะของภิกษุนั้น ฯ

    [๒๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิ
    ย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาวาจาว่ามิจฉาวาจา รู้จักสัมมาวาจาว่าสัมมาวาจา
    ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

    [๒๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาวาจาเป็นไฉน คือพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ
    เจรจาเพ้อเจ้อ นี้มิจฉาวาจา ฯ

    [๒๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวสัมมาวาจา
    เป็น ๒ อย่าง คือ
    สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑
    สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

    [๒๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์
    เป็นไฉน คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
    งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ นี้สัมมาวาจา ที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

    [๒๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ
    เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้น
    จากวจีทุจริตทั้ง ๔ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค
    เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาวาจา ของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
    ภิกษุย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาวาจา เพื่อบรรลุสัมมาวาจาอยู่ ความพยายามของเธอนั้น
    เป็นสัมมาวายามะ ฯ
    ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาวาจาได้ มีสติบรรลุสัมมาวาจาอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ ฯ
    ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม
    เป็นไปตามสัมมาวาจาของภิกษุนั้น ฯ

    [๒๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานก็สัมมาทิฐิ
    ย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉากัมมันตะว่า มิจฉากัมมันตะ รู้จักสัมมากัมมันตะว่า
    สัมมากัมมันตะ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

    [๒๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉากัมมันตะเป็นไฉน คือ ปณาติบาต อทินนาทาน
    กาเมสุมิจฉาจาร นี้มิจฉากัมมันตะ ฯ

    [๒๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว
    สัมมากัมมันตะเป็น ๒ อย่าง คือ
    สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑
    สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑ ฯ

    [๒๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน
    คือ เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
    นี้สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

    [๒๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ
    เป็นองค์มรรคเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงดความเว้น เจตนางดเว้น จากกายทุจริต ทั้ง ๓
    ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล
    สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
    ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉากัมมันตะ เพื่อบรรลุสัมมากัมมันตะ ความพยายาม
    ของเธอนั้นเป็นสัมมาวายามะ ฯ
    ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉากัมมันตะได้ มีสติบรรลุสัมมากัมมันตะอยู่ สติของเธอนั้น
    เป็นสัมมาสติ ฯ
    ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือสัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม
    เป็นไปตามสัมมากัมมันตะของภิกษุนั้น ฯ

    [๒๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน
    ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาอาชีวะว่า มิจฉาอาชีวะ รู้จักสัมมาอาชีวะ
    ว่าสัมมาอาชีวะ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

    [๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน คือ การโกง การล่อลวง
    การตลบตะแลง การยอมมอบตนในทางผิด การเอาลาภต่อลาภนี้มิจฉาอาชีวะ ฯ

    [๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว
    สัมมาอาชีวะเป็น ๒ อย่าง คือ
    สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑
    สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑ ฯ

    [๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ
    ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

    [๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ
    เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น เจตนางดเว้น จากมิจฉาอาชีวะ
    ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล
    สัมมาอาชีวะของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ
    ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาอาชีวะ เพื่อบรรลุสัมมาอาชีวะ ความพยายามของเธอนั้น
    เป็นสัมมาวายามะ ฯ
    ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาอาชีวะได้ มีสติบรรลุสัมมาอาชีวะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ
    ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม
    เป็นไปตามสัมมาอาชีวะของภิกษุนั้น ฯ

    [๒๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิ
    ย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ
    เมื่อมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ จึงพอเหมาะได้
    เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา จึงพอเหมาะได้
    เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ จึงพอเหมาะได้
    เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จึงพอเหมาะได้
    เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ จึงพอเหมาะได้
    เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติ จึงพอเหมาะได้
    เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้
    เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ จึงพอเหมาะได้
    เมื่อมีสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ จึงพอเหมาะได้
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘
    จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ฯ

    [๒๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน
    ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ
    ผู้มีสัมมาทิฐิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาทิฐิได้ ทั้งอกุศลธรรมลามก เป็นอเนกบรรดามี
    เพราะมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาทิฐิสลัดได้แล้วและกุศลธรรมเป็นอเนก
    ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมาทิฐิเป็นปัจจัย ฯ
    ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสังกัปปะได้...
    ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวาจาได้...
    ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉากัมมันตะได้...
    ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาอาชีวะได้...
    ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวายามะได้...
    ผู้มีสัมมาสติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสติได้...
    ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสมาธิได้...
    ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาญาณะได้...
    ผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวิมุตติได้ ทั้งอกุศลธรรมลามกเป็นอเนกบรรดามี
    เพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาวิมุตติสลัดได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอเนก
    ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล จึงเป็นธรรมฝ่ายกุศล ๒๐ ฝ่ายอกุศล ๒๐ ชื่อ ธรรม
    บรรยายมหาจัตตารีสกะ อันเราให้เป็นไปแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม
    หรือใครๆ ในโลก จะให้เป็นไปไม่ได้ ฯ

    [๒๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงสำคัญที่จะติเตียน
    คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้ การกล่าวก่อน และการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ
    อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้น ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว ถ้าใคร
    ติเตียนสัมมาทิฐิ เขาก็ต้องบูชาสรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีทิฐิผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมาสังกัปปะ เขาก็ต้องบูชาสรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสังกัปปะผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมาวาจา เขาก็ต้องบูชาสรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวาจาผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมากัมมันตะ เขาก็ต้องบูชาสรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีการงานผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมาอาชีวะ เขาก็ต้องบูชาสรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีอาชีวะผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมาวายามะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีความพยายามผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมาสติ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสติผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมาสมาธิ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ ผู้มีสมาธิผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมาญาณะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีญาณผิด
    ถ้าใครติเตียนสัมมาวิมุตติ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่าน สมณพราหมณ์ผู้มีวิมุตติผิด ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง พึงสำคัญที่จะติเตียน คัดค้าน
    ธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้ การกล่าวก่อนและการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ อันชอบด้วย
    เหตุของสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    แม้พวกอัสสะและพวกภัญญะชาวอุกกลชนบท ซึ่งเป็นอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะ นัตถิกวาทะ
    ก็ยังสำคัญที่จะไม่ติเตียน ไม่คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ นั่นเพราะเหตุไร เพราะ
    กลัวถูกนินทา ถูกว่าร้าย และถูกก่อความ ฯ
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของ
    พระผู้มีพระภาคแล ฯ

    (มหาจัตตารีสกสูตร) พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๑๔๕/๔๑๓
     
  2. Mon Treal

    Mon Treal เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    182
    ค่าพลัง:
    +536
    ผู้ใดคัดค้านสัมมาทิฏฐิ ผู้นั้นย่อมมีมิจฉาทิฏฐิ นี่คือสัจจะ ดังมหาจตฺตารีสกํ ธมฺมปริยายํ
    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
    ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิต

    ยาถ่ายอันเป็นอริยะ (อริยวิเรจน) อันเป็น
    ยาถ่ายมีผลโดยส่วนเดียว
    ภิกษุ ท. ! แพทย์ทั้งหลาย ย่อมให้ยาถ่ายเพื่อกำจัดโรค ที่มีดีเป็น
    สมุฏฐานบ้าง ที่มีเสมหะเป็นสมุฏฐานบ้าง ที่มีลมเป็นสมุฏฐานบ้าง. ภิกษุ ท. !
    เรากล่าวว่า ยาถ่ายชนิดนั้น มีอยู่ มิใช่ไม่มี แต่ว่ายาถ่ายชนิดนั้น บางที
    ก็มีผล บางทีก็ไม่มีผล.
    ภิกษุ ท. ! เราจักแสดง ยาถ่ายอันเป็นอริยะ (อริยวิเรจน) อันเป็น
    ยาถ่ายมีผลโดยส่วนเดียว ไม่มีที่จะไม่ให้ผล อันเป็นยาถ่ายซึ่งอาศัยแล้ว
    สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเกิด ที่มีความแก่เป็นธรรมดาจะพ้น
    จากความแก่ ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความตาย สัตว์ที่มีโสกะปริเทวะ-
    ทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายเป็นธรรมดาจะพ้นจากโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส-
    อุปายาสทั้งหลาย. พวกเธอจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว.
    ภิกษุ ท. ! ยาถ่ายอันเป็นอริยะ อันให้ผลโดยส่วนเดียว ไม่มีเสีย
    ผลเลย อันสัตว์อาศัยแล้ว จักพ้นจากชาติ ฯลฯ ได้นั้น เป็ นอย่างไรเล่า?
    ภิกษุ ท. ! มิจฉาทิฏฐิ อัน สัมมาทิฏฐิกบุคคลระบายออกได้แล้ว ;
    กล่าวคือ บาปอกุศลธรรมเป็นอเนกเกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยเหล่าใด
    บาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เขาระบายออกได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอเนก
    ที่มีสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์.

    ภิกษุ ท. ! มิจฉาสังกัปปะ อัน ผู้มีสัมมาสังกัปปะระบายออกได้แล้ว
    .... ฯลฯ ....
    ภิกษุ ท. ! มิจฉาวาจา อัน ผู้มีสัมมาวาจาระบายออกได้แล้ว
    .... ฯลฯ ....
    ภิกษุ ท. ! มิจฉากัมมันตะ อัน ผู้มีสัมมากัมมันตะระบายออกได้
    แล้ว .... ฯลฯ ....
    ภิกษุ ท. ! มิจฉาอาชีวะ อัน ผู้มีสัมมาอาชีวะระบายออกได้แล้ว
    .... ฯลฯ ....
    ภิกษุ ท. ! มิจฉาวายามะ อัน ผู้มีสัมมาวายามะระบายออกได้แล้ว
    ....ฯลฯ ....
    ภิกษุ ท. ! มิจฉาสติ อัน ผู้มีสัมมาสติระบายออกได้แล้ว ....
    ฯลฯ ....
    ภิกษุ ท. ! มิจฉาสมาธิ อัน ผู้มีสัมมาสมาธิระบายออกได้แล้ว
    .... ฯลฯ ....
    ภิกษุ ท. ! มิจฉาญาณะ อัน ผู้มีสัมมาญาณะระบายออกได้แล้ว
    .... ฯลฯ ....
    ภิกษุ ท. ! มิจฉาวิมุตติ อัน ผู้มีสัมมาวิมุตติระบายออกได้แล้ว ;
    กล่าวคือ บาปอกุศลธรรมเป็นอเนกเกิดขึ้นเพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยเหล่าใด
    บาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เขาระบายออกได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอเนก
    ที่มีสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์.

    ภิกษุ ท. ! นี้แล ยาถ่ายอันเป็นอริยะ (รวม ๑๐ ประการ) อันเป็นยาถ่าย
    มีผลโดยส่วนเดียว ไม่มีที่จะไม่ให้ผล อันเป็นยาถ่ายซึ่งอาศัยแล้ว สัตว์ที่มี
    ความเกิดเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเกิด ที่มีความแก่เป็นธรรมดาจะพ้นจาก
    ความแก่ ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความตาย สัตว์ที่มีโสกะปริเทวะ-
    ทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายเป็นธรรมดาจะพ้นจากโสกะปริเทวะทุกขะโทม-
    นัสอุปายาสทั้งหลาย.
    - ทสก. อํ. ๒๔/๒๓๓/๑๐๘.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 มีนาคม 2013
  3. Mon Treal

    Mon Treal เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    182
    ค่าพลัง:
    +536
    ข้องใจมานานแต่ไม่ทราบจะถามใคร ขอถามท่านอุรุเวลา หรือท่านอื่น ช่วยไขข้อกังขา คือว่าพระอริยะพอเข้าใจ แล้วพระเกจิคืออย่างไร เป็นพระอริยะด้วยใช่ไหม แล้วเหตุใดจึงไม่เรียกพระอริยะ แต่เรียกพระเกจิ กราบขอบคุณอย่างสูง
     
  4. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า
    ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก
    ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ
    ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ
    ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ
    ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่า บูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต
    เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์
    คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด
    เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร
    เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

    ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก
    ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้คือ
    การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ
    การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง
    การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา
    รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ
    แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

    ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก
    ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ
    ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย
    ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ
    ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ
    หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด
    รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๕๙/๓๘๓ ข้อที่ [๑๒๐]

    พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
    อริย, อริยะ [อะริยะ] น. ในพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ว่า พระอริยะ หรือ พระอริยบุคคล. ว. เป็นของพระอริยะ, เป็นชาติอริยะ; เจริญ, เด่น, ประเสริฐ.

    เกจิอาจารย์ น. ``อาจารย์บางพวก', อาจารย์ที่เชื่อกันว่ามีความรู้ความสามารถ ในด้านคาถาอาคมและการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง. (ป.).
     
  5. Mon Treal

    Mon Treal เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    182
    ค่าพลัง:
    +536
    ขอบคุณมาก มากที่ให้ความรู้ เลยไปสืบค้นต่อได้มาดังนี้

    เรื่องเรียนดิรัจฉานวิชา
    [๑๘๓] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์เรียนดิรัจฉานวิชา ... ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น
    แด่พระผู้มีพระภาค
    พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนดิรัจฉาน วิชา รูปใดเรียน
    ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
    [๑๘๔] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สอนดิรัจฉานวิชา ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา
    ว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบ ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
    พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนดิรัจฉาน วิชา รูปใดสอน
    ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๗
    พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
    ข้อที่ ๑๘๓ - ๑๘๔ หน้าที่ ๔๖
     
  6. Mon Treal

    Mon Treal เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    182
    ค่าพลัง:
    +536
    สมณะท่านละแล้ว
     
  7. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    นั่นสมณะ ฯ นั่นไม่ใช่สมณะ


    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะมีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีในธรรม
    วินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ มีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔
    เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาทโดยชอบอย่างนี้เถิด
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ เป็นพระโสดาบัน
    มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในเบื้องหน้านี้สมณะ (ที่๑)
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๒ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ และ
    เพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง เป็นพระสกทาคามีมาสู่โลกนี้คราวเดียว เท่านั้นแล้วกระทำที่สุดทุกข์ได้
    นี้สมณะที่ ๒
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๓ เป็นไฉน คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์๕ สิ้นไป
    เป็นอุปปาติกะ (เป็นพระอนาคามี) จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา นี้สมณะที่ ๓
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๔เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ
    อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ นี้สมณะที่ ๔
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะ (ที่๑) มีในธรรมวินัยนี้เท่านั้นสมณะที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีในธรรม
    วินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาทโดยชอบอย่างนี้เถิด ฯ


    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๒๒๔/๒๔๐ ข้อที่ [๒๔๑]
     
  8. Mon Treal

    Mon Treal เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    182
    ค่าพลัง:
    +536
    ภิกษุในธรรมวินัยนี้เท่านั้น
     
  9. Mon Treal

    Mon Treal เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    182
    ค่าพลัง:
    +536
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่แสดงอธรรมว่าเป็นธรรม.... สิ่งที่มิใช่วินัยว่าเป็นวินัย ...แสดงคำที่พระตถาคตมิได้กล่าวไว้ ตรัสไว้ว่าพระตถาคตกล่าวไว้ตรัสไว้...แสดงธรรมที่พระตถาคตมิได้ทรงประกอบว่าพระตถาคตทรงประกอบ ....แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติว่าพระตถาคตทรงบัญญัติ.... ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความเสียหาย มิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเป็นอันมาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทั้งย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก และย่อมยังสัทธรรมนี้ให้อันตรธาน”

    บาลีแห่งเอกธรรม เอก. อํ. (๑๓๑-๑๓๒)
    ตบ. ๒๐ : ๒๕-๒๖ ตท. ๒๐ : ๒๒-๒๓
    ตอ. G.S. ๑ : ๑๒
     
  10. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [๕๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ
    บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
    ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นพระมหากัสสป
    นั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย
    ให้เมื่อก่อนสิกขาบทมีน้อยและภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตผลมีมาก และอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
    ให้บัดนี้สิกขาบทมีมาก และภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตผลมีน้อย ฯ

    [๕๓๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสป ข้อนั้นเป็นอย่างนี้คือ เมื่อหมู่สัตว์เลวลง
    พระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป สิกขาบทจึงมีมากขึ้น ภิกษุที่ตั้งอยู่ในพระอรหัตผลจึงน้อยเข้า
    สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลก ตราบใดตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป และ
    สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป ทองเทียมยังไม่เกิดขึ้น
    ในโลก ตราบใดตราบนั้นทองคำธรรมชาติก็ยังไม่หายไป และเมื่อทองเทียมเกิดขึ้น ทองคำ
    ธรรมชาติจึงหายไป ฉันใด พระสัทธรรมก็ฉันนั้น สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด
    ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป เมื่อสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นพระสัทธรรม
    จึงเลือนหายไป ฯ

    [๕๓๓] ดูกรกัสสป ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
    ก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ที่แท้โมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมาก็ทำให้
    พระสัทธรรมเลือนหายไป เปรียบเหมือนเรือจะอัปปาง ก็เพราะต้นหนเท่านั้น พระสัทธรรมยัง
    ไม่เลือนหายไปด้วยประการฉะนี้ ฯ

    [๕๓๔] ดูกรกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความฟั่นเฟือน
    ความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
    อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑
    ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑ เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน
    เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม ฯ

    [๕๓๕] ดูกรกัสสป เหตุ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความตั้งมั่น
    ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
    อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑
    ในสิกขา ๑ ในสมาธิ๑ เหตุ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่น
    เฟือนไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม ฯ

    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๒๑๗/๒๘๘
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 เมษายน 2013

แชร์หน้านี้

Loading...