หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระผู้ทรงวิสุทธิคุณ ตอน สถานที่ซึ่งท่านจำพรรษา

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 7 ตุลาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระผู้ทรงวิสุทธิคุณ ตอน สถานที่ซึ่งท่านจำพรรษา
    [​IMG]
    ระหว่างที่ทราบข่าวกันว่า หลวงปู่ได้เมตตายอมให้มีการทำประวัติท่านโดยละเอียด ได้มีครูบาอาจารย์หลายองค์มาขอให้ผู้เขียนพยายามค้นคว้าลำดับพรรษาของท่านให้ได้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาอ้างอิงของอนุชนรุ่นหลังสืบต่อมา ผู้เขียนก็ได้พยายามตะเกียกตะกายไปกราบเรียนถามครูบาอาจารย์ผู้เป็นศิษย์รุ่นใหญ่ เคยติดตามเที่ยวรุกขมูลกับท่านบ้าง ศิษย์รุ่นหลัง ๆ ที่ได้ติดตามปรนนิบัติท่านบ้าง ได้ข้อความส่วนใดมา สอบทานกันแน่นแฟ้นแล้ว จึงได้กราบเรียนถามองค์ท่านเองเป็นลำดับสุดท้าย ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นการรบกวนท่านมากเกินไป

    สถานที่ซึ่งท่านจำพรรษา ๙ พรรษาแรกนั้น ไม่มีใครจำได้เลยจนองค์เดียว เป็นความกรุณาที่หลวงปู่เมตตาอย่างยิ่ง

    โอกาสที่เราจะว่างและท่านจะว่างให้ตรงกันนั้นยากอยู่แล้ว ครั้นเมื่อมีเวลากราบท่านก็ยังยากต่อไปอีก เพราะท่านควรพักบ้าง หรือบางครั้งญาติโยม ศิษย์ก็ห้อมล้อมท่านแน่น ไม่ใช่ กาละ อันควรเสียแล้ว ก็ต้องรอต่อไป และเมื่อถึง กาละ อันควรที่ควรกราบเรียนถามได้ เวลาท่านตอบ จะต้องเงี่ยหูฟังกันอย่างหนัก ทางผู้เขียนเองซึ่งแสนจะไม่สันทัดในสำเนียงอีสาน ประจวบกับการที่ท่านอาพาธ ลิ้นไม่เป็นไปตามบังคับของท่าน ฟังแล้วต้องเรียนถามพระผู้ปรนนิบัติ ทั้งญาติโยมชาวจังหวัดเลยที่ติดตามท่านมา คำบางชื่อก็สามารถจดบันทึกลงได้เร็ว บางชื่อต้องกราบเรียนถามท่านซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะจับคำไม่ถนัด บางทีรบกวนท่านมากไป ก็ต้องยุติเลิกรากันไปก่อน คราวหน้าคอยหาโอกาสกราบเรียนถามท่านใหม่...เป็นเวลาหลายเดือน จึงจะได้ชื่อที่ท่านรับว่า พวกเราฟังถูกแล้ว !!

    ตัวอย่างเช่น วัดศรีมงคลเหนือ ในพรรษาที่ ๒ เป็นต้น สามคำแรก ศรีมงคล ก็ใช้เวลานานอยู่แล้ว แต่เฉพาะคำว่า เหนือ นั้น ยิ่งนานไปกว่ามาก ถึงเป็นแรมเดือน เพราะท่านออกเสียงเบา และเราได้ยินเป็นอื่นไป กว่าจะถึงบางอ้อ คิดขึ้นได้ว่า ภาษาพูดทางอีสาน ไม่ค่อยออกสียงสระ เอือ แต่เป็นสระ เอีย คำท้ายที่ได้ยินท่านว่า นะ หรือ เนีย หรือ เหนีย นั้นคงต้องแปลงเป็นสระเอือ ดังนั้น เมื่อเราฉลาดขึ้น ร้องว่า “เหนีย คือ เหนือ ใช่ไหมเจ้าคะ วัดศรีมงคลเหนือ ถูกไหมเจ้าคะ หลวงปู่”

    เห็นหลวงปู่ยิ้มรับด้วยความเมตตาและมีท่าโล่งใจ เราก็สบายใจได้ว่า คลำมาถูกทางแล้ว ถูกต้องแล้ว ....!!

    ดังนั้นท่านผู้อ่านคงจะเห็นใจ ถ้าผู้เขียนไม่สามารถบันทึกวัด หรือ ถ้ำ สถานที่ซึ่งท่านจำพรรษามาได้หมด... นอกจากที่กล่าวมาแต่ข้างต้นแล้ว วัดที่ท่านจำพรรษาพอจะบันทึกไว้ได้ เป็นการต่อเนื่องจากที่กล่าวมา...จนถึงพรรษาที่ ๑๕ ข้างต้นนั้น...

    พรรษาที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๔๘๓ จำพรรษาที่ บ้านยาง เชียงใหม่

    พรรษาที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๔๘๔ จำพรรษาที่ วัดห้วยน้ำริน อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ กับพระคุณเจ้า หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

    พรรษาที่ ๑๘ พ.ศ. ๒๔๘๕ จำพรรษาที่ สำนักสงฆ์แม่หนองหารสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กับท่านพระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ เพียง ๒ องค์ด้วยกัน

    ออกพรรษาแล้วท่านก็เตรียมกลับไปหาที่ภาวนาอันสงัดที่พม่าอีก โดยผ่านไปวิเวกที่แม่ฮ่องสอนก่อน ความจริงท่านชวนท่านพระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ ให้ไปด้วยท่าน แต่ท่านพระอาจารย์เหรียญพิจารณาในส่วนองค์ท่าน (การพิจารณา ของ พระธุดงคกรรมฐาน หมายถึง การเข้าที่ภาวนา พิจารณา) แล้วเห็นว่า จะมีอุปสรรค ท่านจึงขอตัวไม่ไปด้วย

    ตกลงหลวงปู่จึงเดินทางต่อไปเพียงลำพัง ท่านเล่าว่า ระหว่างอยู่ที่แม่ฮ่องสอน มีพวกโจรมาปล้น จะเอา เงิน และ ของดี สมัยนั้นพระธุดงค์บางองค์ก็มีปัจจัยติดตัวมากเหมือนกัน แต่หลวงปู่เป็นพระธรรมยุต ไม่เคยจับเงิน ท่านก็ปล่อยให้โจรค้นบาตรตามใจ มันค้นหา เงิน ไม่ได้ จะหา “ของดี” ประเภทตะกรุด พระเครื่อง พระธุดงค์องค์นี้ก็ไม่มีสักอย่าง โจรมันคงจะนึกทุเรศเต็มประดาที่พระธุดงค์องค์นี้ไม่มี “ท่าที” ของพระธุดงค์ตามโลกนิยมเขาเลย มันจึงบ่นพึมพำและสุดท้ายก็ปล่อยไป

    ท่านเดินทางจากแม่ฮ่องสอน ๔ วัน จึงเข้าเขตพม่า ซึ่งเหตุการณ์ช่วงที่ท่านอยู่ในพม่าตอนรอบหลังนี้ ก็ได้กล่าวมาในตอนต้นแล้ว อันเป็นเวลาระหว่างพรรษาที่ ๑๙ – ๒๑ พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๔๘๘

    ท่านกลับจากพม่าในปลายปี ๒๔๘๘ และคงเที่ยวไปตามป่าเขาในเขตเชียงใหม่ต่อไปตามอัธยาศัย โดยได้มีโอกาสเที่ยววิเวกกับเพื่อนสหธรรมิกของท่าน เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หรือเพื่อนรุ่นน้องอย่างท่านพระอาจารย์เหรียญ

    ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงปู่ขาว ซึ่งเสร็จภารกิจทางธรรมแล้วเช่นกัน ก็ชวนท่านกลับอีสาน

    พรรษาที่ ๒๒ พ.ศ. ๒๔๘๙ จำพรรษาที่ ป่าช้าวังหินโง้น (หินชะโงก) ปัจจุบันคือ วัดป่าโคกมน

    พรรษาที่ ๒๓ – ๒๔ – ๒๕ – ๒๖ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๙๑ – ๒๔๙๒ และ ๒๔๙๓ จำพรรษาที่วังม่วง ใกล้บ้านโคกมน ท่านจำพรรษาที่นี่ติดต่อกันถึง ๔ ปี และที่นี่ท่านพระอาจารย์บัวคำ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสัมมานุสรณ์ ซึ่งมรณภาพไปแล้วได้มาจำพรรษาอยู่ด้วย ๒ พรรษา

    ควรจะทราบด้วยว่า เมื่อกล่าวถึงการจำพรรษา ๔ ปีนี้ มิได้หมายความว่าหลวงปู่จะอยู่ที่วังม่วงตลอดเวลา ๔ ปี ออกพรรษาแล้วท่านก็จะออกวิเวกท่องเที่ยวไปหาที่บำเพ็ญภาวนาอันสงัดเงียบต่อไป ตามวิสัยของพระธุดงคกรรมฐาน ระหว่าง ๔ ปีนี้ หลวงปู่ได้ธุดงค์ไป ๆ มา ๆ ระหว่าง เลย และ เชียงใหม่ และเลยไปถึง เชียงราย พะเยาด้วย

    ระหว่างมาเที่ยววิเวกทางเชียงใหม่นี้ ท่านได้พบสถานที่อันสงัดสงบบนยอดเขาสูงหลายแห่ง พิจารณาเห็นควรจะสร้างเป็นวัดให้เจริญสมณธรรม ที่สำคัญซึ่งท่านมักจะมาพักหรือจำพรรษาในภายหลังคือที่ ผาแด่น และ ปางยางหนาด

    เฉพาะที่ผาแด่น ซึ่งเรียกกันว่า วัดป่าบ้านยางนั้น ท่านให้ท่านพระอาจารย์สมบูรณ์ ปสันจิตโต ช่วยสร้าง ท่านเองจำพรรษาหลายครั้ง ท่านพระอาจารย์ลี ธัมมวโร ก็เคยไปจำพรรษาที่นั่น

    พรรษาที่ ๒๗ พ.ศ. ๒๔๙๔ จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านยาง ผาแด่น เชียงใหม่

    พรรษาที่ ๒๘ พ.ศ. ๒๔๙๕ จำพรรษาที่ถ้ำแม่แจ่ม เชียงใหม่ เช่นกัน

    พรรษาที่ ๒๙ พ.ศ. ๒๔๙๖ กลับมาจำพรรษาที่โคกมน

    พรรษาที่ ๓๐ พ.ศ. ๒๔๙๗ จำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบาย ลำปาง

    พรรษาที่ ๓๑ พ.ศ. ๒๔๙๘ จำพรรษาที่วังม่วง วัดป่าท่าสวย

    จากนี้ไปหลวงปู่จะนึกนานหน่อย จนผู้เขียนคิดว่าไม่คุ้มกับการที่เราจะไปรบกวนท่าน

    ความจริงที่ท่านกรุณานึก กรุณาตอบมาได้ถึง ๓๑ พรรษา ก็เป็นความเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้อยู่แล้ว ท่านเจริญอายุถึง ๘๕ พรรษาแล้ว (อายุเมื่อปี ๒๕๒๙ อันเป็นปีที่เขียนประวัติครั้งแรก) เป็นปุถุชนคนธรรมดาก็ย่อมจะหลงเลือน ยากจะจำสิ่งใดได้ แต่ท่านก็จำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ท่านประสบพบเห็นมาได้ดี ทั้งที่เป็นส่วนภายนอก และทั้งที่เป็นส่วนภายใน ถ้าเป็นเวลาอันควรและสถานที่อันควร กราบเรียนถามครั้งใด ท่านจะตอบทันทีและทุกครั้งก็ตรงกัน โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ ๆ เช่น การพบกันกับท่านพระอาจารย์มั่น หรือเพื่อนสหธรรมิกของท่านที่ธุดงค์กันมาอย่างโชกโชน หรือเหตุการณ์ที่ท่านประสบอันเป็นที่เลื่องลือเล่ากันมาจนประหนึ่งนิยาย...เหล่านี้ ท่านจะตอบทันทีโดยไม่ลังเล ว่าเกิดที่ใด จังหวัดใด บวชมากี่พรรษา

    ตัวเราเองลองนึกย้อนไป ให้ตอบว่าปีนั้น เดือนนั้น อยู่ที่ไหน คงยากจะตอบ เพราะเราย่อมจะจำได้เพียงเหตุการณ์ประทับใจเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรพอใจในสิ่งที่ได้รับความกรุณามาแล้วจากท่าน

    ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ ผู้ใหญ่ถัน วงษา แห่งบ้านโคกมนในสมัยนั้น ได้ซาบซึ้งในวัตรปฏิบัติของท่าน ปรารถนาจะให้ท่านได้อยู่เป็นขวัญตาขวัญใจของชาวแดนมาตุภูมิของท่านนาน ๆ เพราะท่านมักเที่ยวธุดงค์ไปทางถิ่นอื่น แดนอื่นมากกว่า ถ้ามีวัดถาวร ท่านคงจะเมตตาอยู่ประจำให้มากขึ้น ผู้ใหญ่ถันจึงอุทิศที่ดินถวายหลวงปู่ให้สร้างวัด ได้มีชาวบ้านสมทบถวายอีกมาก จนเป็นเนื้อที่กว่า ๑๐๐ ไร่ ซึ่งคือ วัดป่าสัมมานุสรณ์ ในขณะนี้ และหลังจากนั้นศรัทธาญาติโยมทั้งที่จังหวัดเลย จังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวกรุงเทพมหานคร ก็ได้หลั่งไหลกันมาบำเพ็ญกุศลร่วมสร้างวัด จนมีความเจริญขึ้นมากดังในปรัตยุบันนี้ มีโบสถ์กลางน้ำ เจดีย์ใหญ่ และศาลาเมตตาฐานสโม ฯลฯ

    ระยะหลังนี้ หลวงปู่จึงจำพรรษาที่วัดป่าสัมมานุสรณ์เป็นส่วนใหญ่ และในตอนระยะหลัง เมื่อท่านยอมลงมาโปรดญาติโยมทางกรุงเทพฯ ซึ่งท่านเล่าว่า ท่านรับนิมนต์มากรุงเทพฯ ครั้งแรก อายุ ๗๐ ปี (ไม่ได้นับการมาระหว่างเดินทางไปมา เช่นหากจะต้องเดินทางจากเชียงใหม่กลับอีสานโดยทางรถไฟก็ได้มาแวะพักที่กรุงเทพฯ กับหมู่พวกก่อน) ท่านก็ได้มาจำพรรษาโปรดชาวกรุงเทพฯ ด้วย

    เท่าที่ทราบ ในพรรษาที่ ๓๕ พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านจำพรรษาที่บ้านบง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเป็นยอดเขาสูงเทียมฟ้า เช่นเดียวกับที่ผาแด่น ท่านพระอาจารย์บุญญฤทธิ์ ปัณฑิโต ศิษย์เอกองค์หนึ่งของท่านเล่าว่า เป็นที่เสือดุมาก บางวันเอาควายไปกินถึง ๕ ตัว ที่จำพรรษาเป็นศาลาโล่งตลอด แทบจะไม่มีที่กันลม จึงหนาวบาดจิตบาดใจ

    ออกพรรษา ชาวโคกมนก็ไปตาม ท่านจึงต้องกลับไปโคกมน

    พรรษาที่ ๔๐ และ ๔๑ พ.ศ. ๒๕๐๗ และ พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านได้กลับไปจำพรรษาที่บ้านบงอีก

    พรรษาที่ ๔๗ พ.ศ. ๒๕๑๔ จำพรรษาที่บ้านสานตม

    พรรษาที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๑๗ และ พรรษาที่ ๕๕ พ.ศ. ๒๕๒๒ จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ของ พล.อ.อ. โพยม เย็นสุดใจ

    พรรษาที่ ๕๗ พ.ศ. ๒๕๒๔ จำพรรษาที่วัดอโศการาม

    สำหรับที่ป่าช้าวังหินโง้น ซึ่งอยู่ที่บ้านโคกมนเช่นเดียวกัน ไม่ไกลไปจากวัดป่าสัมมานุสรณ์นัก เป็นที่ซึ่งท่านกลับจากเชียงใหม่ครั้งนั้น ก็แวะมาบำเพ็ญสมณธรรมเป็นแห่งแรก ท่านเห็นว่าเป็นที่ควรวิเวก ทำนุบำรุงให้เป็นวัดต่อไป ปัจจุบันนี้จึงกลายมาเป็นวัดป่าศรัทธาวนาราม (บ้านโคกมน) ตั้งแต่พรรษาที่ ๕๘ ถึง พรรษาที่ ๖๖ พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ท่านจำพรรษาที่วัดนี้โดยตลอด

    พรรษาที่ ๖๗ พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่ได้รับนิมนต์จากญาติโยมทั้งชาวไทย ลาว เขมร และญวน ที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ให้ไปจำพรรษาโปรดพวกเขาที่ห่างไกลดินแดนพระพุทธศาสนามาก ท่านก็ได้เมตตารับนิมนต์ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดพุทธรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดซึ่งศรัทธาญาติโยมได้ไปสร้างอยู่ที่เมืองเคลเลอร์ รัฐเท็กซัส

    และก็อย่างที่ได้กล่าวไว้แต่ต้น ว่าการจำพรรษาที่ใด มิได้หมายความว่า ออกพรรษาแล้วหลวงปู่จะอยู่ประจำ ณ วัดนั้นตลอดทั้งปี ท่านยังถือธุดงควัตร ออกไปเที่ยวธุดงค์ตลอด ทางภาคเหนือเป็นที่ซึ่งกลับไปเยี่ยมเป็นประจำ และส่วนทางอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ ท่านก็ไปเยี่ยมโปรดให้โดยทั่วกัน

    เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะหลังนี้ หลวงปู่ไม่ได้ถือเรื่องอธิษฐานพรรษาเคร่งครัดนัก ท่านเคยพูดว่า “บวชมาบ่ได้บวชเอาพรรษา... เฮาบวชเพื่อพ้นทุกข์”

    อีกประการหนึ่ง อาจจะเป็นได้ว่า ท่านเป็น “ผู้ไม่มีแผลในฝ่ามือ” แล้วก็ได้
    ที่มา http://palungjit.org/threads/ขอเชิญร่วมบุญสร้างกำแพงแก้ววิหารหลวงพ่อโต-วัดกุฎีทอง-อยุธยา.553352/
     

แชร์หน้านี้

Loading...