เรื่องเด่น “น้ำท่วม-น้ำป่า” ระส่ำทั่วไทย เฝ้าระวัง “น้ำท่วมใหญ่ 2564” พร้อมไหม? ถ้าน้องน้ำมาเยือน

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 4 กันยายน 2021.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    b988e0b8a7e0b8a1-e0b899e0b989e0b8b3e0b89be0b988e0b8b2-e0b8a3e0b8b0e0b8aae0b988e0b8b3e0b897e0b8b1.jpg
    ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – จากสถานการณ์น้ำท่วมนิคมฯ บางปู จ.สมุทรปราการ สร้างความปริวิตกว่าอาจเกิดกรณีน้ำท่วมเช่นเดียวกันโดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนหลายพื้นที่ทั่วประเทศเกิดเหตุน้ำท่วมซ้ำซาก ทั้งยังครบรอบ 10 ปี มหาอุทกภัย 2554 ยิ่งสร้างความหวาดหวั่นให้คิดไปไกลว่า เป็นไปได้หรือไม่อาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ในปี 2564

    สอดคล้องกับสถิติน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยนับตั้งแต่ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยให้ข้อมูลว่าโดยเฉลี่ยประเทศไทยจะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ประมาณ 12 ปีครั้ง หรือ 10 ปีครั้ง แต่ในปัจจุบันเกิดน้ำท่วมใหญ่บ่อยครั้ง

    นอกจากนี้ รศ.ดร.เสรี ศุภทราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดเผยหลังจากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในเมืองเจิ้งโจว ประเทศจีน ซึ่งสร้างเสียหายอย่างรุนแรงมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน ทำให้จีนมีปริมาณฝนตกหนักในรอบ 1,000 ปี กล่าวคือ ปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่เมืองเจิ้งโจว มีมากถึง 617.1 mm (โดยที่ปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีที่เมืองนี้ 640.8 mm) ฝนตก 3 วัน เทียบเคียงฝน 1 ปี

    พร้อมกันนี้ยังได้คาดการณ์ว่าปลายปี 2564 ประเทศไทย มีโอกาสเกิดปรากฏการณ์ลานีญา พร้อมกับจุดประเด็นให้สังคมไทยตระหนักว่า ถ้าปริมาณฝน 1,000 ปี มาตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครบ้าง ประเทศไทยจะมีแนวทางการจัดการอย่างไร การประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้น มิเช่นนั้นจะเกิดความโกลาหล

    อีกทั้ง ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน 50 จังหวัดทั่วไทย ช่วงต้นเดือน ก.ย. ฝนตกหนัก 60 – 80% ของพื้นที่ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน – น้ำป่าไหลหลาก ฉะนั้น สถานการณ์น้ำเป็นประเด็นต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

    88e0b8a7e0b8a1-e0b899e0b989e0b8b3e0b89be0b988e0b8b2-e0b8a3e0b8b0e0b8aae0b988e0b8b3e0b897e0b8b1-1.jpg
    ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช. ) ซึ่งมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

    รายงานการติดตามและประเมินสภาพภูมิอากาศ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เปิดเผยสถานการณ์ภาพรวมช่วงฤดูฝน ปี 2564 แนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ลักษณะคล้ายคลึงกับปี 2551 โดยช่วงต้นฤดูฝน เดือน พ.ค. – ก.ค. มีปริมาณฝนน้อยเสี่ยงเกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ และจะมีฝนตกหนักในเดือน ก.ย. – ต.ค. เสี่ยงเกิดอุทกภัยบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนช่วงปลายปีเดือน พ.ย. – ธ.ค. จะเกิดฝนตกหนักเสี่ยงเกิดน้ำท่วมบริเวณภาคใต้

    ทั้งนี้ ปริมาณฝนปี 2551 นั้น มีค่าน้อยกว่า ปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ดังนั้น โอกาสที่ กรุงเทพฯ จะเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนัก รอบ 1,000 ปี หรือ เกิน 350 มิลลิเมตรต่อวัน จากกรณีเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงปลายปี 2564 จึงมีความน่าจะเป็นต่ำมาก

    เป็นไปในทิศทางเดียวกับ นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAMG ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศบท วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำฝนปี 2564 ความว่า ยังไม่พบสัญญาณความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่คล้ายกับปี 2554 จากการประมวลวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ ปี 2564 แม้ฝนจะมาเร็ว และคาดการณ์ปริมาณฝนช่วงก่อนมรสุมจะมีฝนตกมาก แต่ยังไม่พบสัญญาณความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่

    ประกอบกับความสามารถของอ่างเก็บน้ำเขื่อนใหญ่ทั้ง 4 ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังมีน้ำอยู่น้อยสามารถรองรับน้ำได้มากกว่าปี 2554 ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 4 มีน้ำรวมกัน 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อย และมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งเท่านั้น และสภาพพื้นที่รับน้ำก็เปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

    ขณะที่ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่ามีการติดตามสถานการณ์พายุ สภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์น้ำจากแหล่งเก็บกักน้ำในประเทศทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ และเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

    โดยในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. จะมีพายุหมุนเขตร้อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 2 – 3 ลูก บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือซึ่งเป็นไปตามปกติของช่วงฤดูฝน และได้คาดการณ์ฝน (One Map) ทั้งประเทศในเดือน ก.ค. – ต.-ค. 2564 พบว่า เดือน ก.ค. มีปริมาณฝนรวม 188 มม. มากกว่าค่าปกติเพียง 0.4 มม. เดือน ส.ค. มีปริมาณฝนรวม 219 มม. น้อยกว่าค่าปกติ 9 มม. (4%)

    สำหรับในช่วงเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝน กอนช. คาดการณ์ว่า จะมีอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยงปริมาณน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 80% จำนวน 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ 108% เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น 101% เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา 91% เขื่อนลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา 109% เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก 99% เขื่อนหนองปลาไหล จังหวัดระยอง 116% เขื่อนประแสร์ จังหวัดระยอง 94% และเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี 81% ซึ่ง กอนช. ได้มอบหมายให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริหารจัดการน้ำในเขื่อนทั้ง 8 แห่งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ให้มากที่สุด โดยไม่ให้เกิดผลกระทบสร้างความเสียหายกับประชาชนและคำนึงถึงการสำรองปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งในปีต่อไป

    มีการวางแผนเตรียมการในเชิงป้องกันใน 10 มาตรการ ประกอบด้วย 1. คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง 2. บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อรองรับน้ำหลาก 3. ทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเขื่อนระบายน้ำ 4.ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำและสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5. ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ

    6. ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7. เตรียมความพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 8. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9. การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อม ตลอดระยะเวลาฤดูฝน และ 10. ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ตลอดระยะเวลาฤดูฝน

    สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งถือเป็นเปราะบาง มีการกำหนดมาตการเตรียมการป้องกันผลกระทบน้ำท่วม บูรณาการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยเฉพาะจุดรอยต่อและจุดเสี่ยงได้รับผลกระทบต่างๆ เพื่อทำงานเชิงป้องกันล่วงหน้ารองรับสถานการณ์ตามมติ ครม. เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย เนื่องจากระบบระบายน้ำสามารถรองรับฝนตกได้เพียง 100-120 มม.ต่อวัน หากฝนตกมากกว่านี้ จะเกิดน้ำนองท่วมขังไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ต้องเร่งสูบระบายน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องสูบน้ำจำนวน 1,121 เครื่อง มีศักยภาพสามารถระบายน้ำได้ 807 ลบ.ม./วินาที

    ประกอบด้วย 5 แนวทางหลัก คือ 1. ปรับปรุงเพิ่มระบบระบายน้ำเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ของเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ การจัดหาพื้นที่หน่วงน้ำ (แก้มลิง) การเพิ่มประสิทธิภาพท่อระบายน้ำ รวมถึงการใช้ระบบตรวจวัดข้อมูลอัตโนมัติเพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ 2. การล้างท่อระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคลอง และบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำสถานีสูบน้ำ และจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ 3. การวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาหากมีเหตุไฟฟ้าขัดข้อง จะมีหน่วยงานเร่งด่วนที่สามารถเข้าแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทันที

    4. การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อประสานงานแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีกองบังคับการตำรวจจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นศูนย์กลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประสานงานและแก้ไขปัญหา และ 5. การจัดทำแผนเผชิญเหตุน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างเกินศักยภาพระบบระบายน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในช่วงฤดูฝนนี้

    ล่าสุดกับสถานการณ์น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ เมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากเกิดฝนถล่มอย่างหนักจนเป็นเหตุให้มีปริมาณน้ำท่วมขัง จนปรากฎภาพน้ำท่วมมิดหลังคารถเก๋ง รถมอเตอร์ไซค์จมอยู่ใต้น้ำ ด้วยพื้นที่สมุทรปราการเป็นพื้นที่ราบต่ำน้ำท่วม มักมีปัญหาเมื่อฝนตกหนักจนระบายน้ำไม่ทัน แม้คลี่คลายลงแล้ว แต่เกิดคำถามว่าทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ควรมีระบบป้องกันน้ำท่วมอย่างสูงสุด แต่กลับเกิดหตุท่วมขังกว่า 2 วัน จนสร้างความเสียหายมหาศาล

    สำหรับคำอธิบายกรณีน้ำท่วมขังนิคมอุตสาหกรรมบางปู วิเคราะห์กันว่าเกิดจากการระบายน้ำในบริเวณลำคลองใกล้เคียงมีปัญหาตื้นเขิน มีสิ่งปลูกสร้างขว้างทางน้ำจำนวนมากจากการขยายตัวของชุมชน คูคลองถูกถมเป็นถนน บวกกับเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนทำให้การระบายน้ำลงทะเลล่าช้า

    ทางด้าน นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างหนักในนิคมอุตสาหกรรมบางปู อ้างอิงรายงานอีไอเอของนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ โครงการปรับปรุงระบบป้องกันน้ำท่วมซึ่งเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในปี 2557 ระบุว่า จะใช้งบประมาณรวม 970 ล้านบาท ในการป้องกันน้ำท่วมด้วยการสร้างระบบเขื่อนเป็นคันดินสูง +2.20 ม.รทก. และ +2.25 ม.รทก. ล้อมรอบพื้นที่ของโครงการขนาด 5,472 ไร่ มีโรงงาน 420 แห่ง โดยทำเป็นคันดินยาวประมาณ 17.10 กม.บางส่วนมีลักษณะเป็นกำแพงเสริมคอนกรีตบนคันดินเดิมด้วย สามารถป้องกันน้ำจากภายนอกเข้ามาท่วมสูงสุดได้ในรอบ 70 ปี

    อีไอเอ ระบุว่า ระบบระบายน้ำฝนภายในนิคมฯ จะแยกออกจากระบบรวบรวมน้ำเสีย โดยมีสถานีสูบน้ำลงสู่คลองโดยรอบ 14 สถานี คิดเป็นปริมาณน้ำรวม 78,432 ลบ.ม./ชม. และมีบ่อหน่วงน้ำ 11 บ่อ มีความจุกักน้ำฝนได้รวม 83,900 ลบ.ม. และมีลำรางระบายน้ำฝนขนาด 274,076 ลบ.ม. ภายในนิคมฯ ซึ่งสามารถชะลอน้ำฝนเก็บไว้ในโครงการได้อีก

    จึงสรุปได้ว่าระบบบ่อหน่วงน้ำฝนในนิคมอุตสาหกรรมบางปูจะสามารถรองรับน้ำฝนได้อย่างเพียงพอ ซึ่งคิดในกรณี worst case แล้ว คิดปริมาณน้ำจากกรณีที่ฝนตกหนักในรอบ 70 ปี ดังนั้น นิคมฯ บางปูจึงเสนอไว้ในรายงานว่าในช่วงฝนตกหนักจะไม่มีการระบายน้ำออกนอกนิคมฯ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ชุมชนโดยรอบ

    แต่ในข้อเท็จจริงแล้วฝนที่ตกลงมาในวันที่ 29 ส.ค.64 ทำให้นิคมอุตสาหกรรมบางปูเกิดน้ำท่วมอย่างหนัก บ่อหน่วงน้ำเก็บน้ำไว้ได้ไม่เพียงพอ เขื่อนคันดินโดยรอบนิคมฯ กลายเป็นกำแพงกันไม่ให้น้ำไหลออกไปข้างนอก ลำคลองหลังนิคมฯถูกถมเป็นถนน เป็นต้น จนเกิดน้ำท่วมในนิคมฯสร้างความเสียหายแก่โรงงานที่ตั้งอยู่ภายในอย่างหนัก จนต้องทำการสูบน้ำลงคลองโดยรอบตั้งแต่ 02.00 น.ของคืนวันที่ 29 ส.ค. ทำให้น้ำล้นตลิ่งท่วมชุมชนมากขึ้น

    ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นภาพเหตุการณ์ที่ทำให้ย้อนนึกถึง “มหาอุทกภัย ปี 2554” ที่ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยจนอยู่ใต้บาดาล เว็บไซต์คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เผยแพร่ “บันทึกเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554” ระบุว่า ปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี และมีพื้นที่ประสบภัยกระจายตัวในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานาน ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งเกิดน้ำท่วมหนักในรอบ 70 ปี

    อุทกภัยในครั้งนั้นส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งทางภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคส่วนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการบริหารผิดพลาดของรัฐ ความล้มเหลวของระบบการจัดการของไทย หน่วยงานของภาครัฐตั้งแต่ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ดำเนินไปด้วยความขัดแย้ง

    น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ไม่เพียงเกิดจากปัจจัยธรรมชาติซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ปริมาณน้ำฝนสูงกว่าเฉลี่ยจากปรากฎการณ์ลานีญา ยังมีปัจจัยทางกายภาพที่เอื้อให้เกิดน้ำท่วมขัง อาทิ ระบบโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมไม่มีประสิทธิภาพ สะพาน-ตอม่อกลายเป็นปัญหาต่อการระบายน้ำ การสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ ฯลฯ

    รวมทั้ง ปัจจัยทางด้านการบริหารจัดการน้ำ ตัวอย่างเช่น ปัญหาการบริหารการระบายผ่านแนวรอยต่อที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ การสร้างพนังและคันของประชาชนและองค์กรส่วนย่อย ทำให้การระบายน้ำในภาพรวมไม่สามารถดำเนินการได้ เป็นต้น

    จวบจน ปี 2564 ประเทศยังคงเผชิญสถานการณ์ปัญหาเดิมๆ ควบคู่กับมาตรการบริหารจัดการน้ำของรัฐ ทั้งปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำป่าไหลไหลบ่า ชัดเจนว่ารอบการเกิดภัยพิบัติถี่ขึ้น ปัจจัยกระตุ้นคือสภาพอากาศโลกแปรปรวนชี้ชัดภัยธรรมชาติรุนแรงทั่วโลกขึ้นเกิดจากภาวะโลกร้อน และแน่นอนว่าสถานการณ์ปัญหาเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไทย


    ท้ายที่สุดคงไม่สามารถตีธงได้ว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่อีกครั้งหรือไม่? แต่ที่แน่ๆ หากรัฐยังไม่สามารถอุดรอยรั่วปัญหาต่างๆ และหากปีนี้น้องน้ำมาเยือน คนไทยคงต้องก้มหน้าเผชิญความทุกข์ยากกันต่อไป


    ขอบคุณที่มา

    https://mgronline.com/daily/detail/9640000087465
     
  2. ธรรมแท้ว่าง

    ธรรมแท้ว่าง กายเบาใจเบา

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มีนาคม 2011
    โพสต์:
    12,288
    ค่าพลัง:
    +12,620
    ถึงเวลาฉุกละหุก ต้องตัวใครตัวมัน
    เพราะแผนงานสาธารณะภัย คนไทยไม่นิยม
    ถนัดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ก็ไม่ทันและเสียหายมหาศาล
    แต่ลืมง่ายฮับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...