เรื่องเด่น ก่อนเทศน์ช่วงเช้า วันอาทิตย์ที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๘

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 21 เมษายน 2025.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,569
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,728
    ค่าพลัง:
    +26,586
    ทางด้านกรุงสุโขทัยจึงแต่งทูตมาเชิญพระเถระ ขึ้นไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่โน่น เราจะเห็นในศิลาจารึก ซึ่งเขียนเอาไว้ว่า "ปู่ครูทุกตนลุกมาแต่เมืองศรีธรรมราช"

    "ปู่ครู" ในที่นี้ก็คือ "พระสังฆราช" ก็แปลว่าสังฆราชของพระพุทธศาสนาของเราที่สุโขทัยทุกรูป ได้รับการอัญเชิญจากพระมหากษัตริย์ขึ้นไปจากนครศรีธรรมราชทั้งนั้น ไปรับตำแหน่ง ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นั่น พอเผยแผ่แล้วก็กระจายกว้างออกมา บรรดาอาณาจักรใกล้เคียง ด้านบนเป็นล้านช้าง ล้านนา ด้านล่างก็ละโว้ อยุธยา จึงรับเอาวัฒนธรรมมาส่งต่อกันด้วยวิธีผจญภัยนี่เอง..!

    ถึงเวลาก็ข้ามไปข้ามมาค้าขายกัน อย่างเช่นถึงเวลานายฮ้อยต้อนควายมา มาทำลาบทำก้อยกิน คนเห็น เฮ้ย..อร่อยนี่หว่า..! ก็ทำตาม นี่แค่วัฒนธรรมอาหารอย่างเดียว อย่างอื่นก็แบบนี้เหมือนกัน

    พอถึงเวลาก็มีการไหว้ผี มีการไหว้พระ มีการสวดมนต์ คนเห็นสนใจเข้าไปสอบถาม พอเขาบอกเขากล่าวก็ศึกษาเล่าเรียนเอาไว้ ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา ปรับให้เข้ากับบริบท ก็คือความเป็นอยู่ของตน ไม่ได้เอามาทั้งหมด อะไรว่าดีกูเอาด้วย แต่ถ้าหากว่ายากกูไม่เอา เพราะฉะนั้น..วัฒนธรรมแต่ละอย่างก็เลยมีขาดมีเกิน แต่จะเห็นเค้าอย่างชัดเจนว่ามาจากไหน

    ทางประเทศอินเดียเขาถือว่าในช่วงนี้เป็นช่วงของความเจริญ ความรุ่งเรือง เขาก็เลยมีเทศกาลสงกรานต์ แต่เป็นการสงกรานต์ด้วยสี เรียกเทศกาลโฮลี ถึงเวลาเอาสีไปไล่สาดกัน น้ำก็ไม่ค่อยจะมีแล้วยังจะไปสาดสีใส่กันอีก คราวนี้จะไปล้างไปเช็ดกันอีท่าไหน ?

    ใครอยากเห็นสีที่เป็นสีจริง ๆ ให้ไปดูที่อินเดีย เนปาล แดงคือแดงแปร๊ดแสบตาเลย เหลืองก็เหลืองแจ๊ดไปเลย ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาทำได้อย่างไร ? แต่บ้านเราทำไม่ได้ ลอง ๆ ไปดู เดิน ๆ ไปในตลาดน่ะ เขามีขาย อาตมาชอบเดินดูตลาด เป็นคนตื่นเช้า ถึงเวลาก็ท่อม ๆ ไปเรื่อย อาศัยความจำดี ถึงเวลาจำได้ว่าต้องกลับทางนี้ ต้องกลับทางโน้น จึงเดินดูไปเรื่อย

    บางทีคนอื่นที่เดินทางไปด้วยก็ไม่รู้หรอกว่ามีอะไรบ้าง แต่ของเราเดินดูไปครึ่งบ้านครึ่งเมืองแล้ว หลงทางก็ถามชาวบ้านเขา ชาวบ้านบอกไม่ได้ก็ถามผี ถามไปถามมา โดนพวกประท้วงว่า "ผมไม่ใช่ผีครับ" เออ..เข้าท่า ทำไมมาหน้าตาธรรมดา ๆ ? มาแบบนี้เราก็นึกว่าผี..ใช่ไหม ? จะเป็นเทพบุตรเทวธิดาก็มาให้หล่อ ๆ สวย ๆ หน่อย หรือกลัวคนขโมยสตางค์ก็ไม่รู้สินะ ?! มาถึงแต่งตัวมาเสียโทรมเชียว คงกลัวว่าจะแปลกแยกจากชาวบ้านเขา

    คราวนี้วัฒนธรรมพวกนี้พอมาถึงบ้านเรา บ้านเราน้ำเยอะ แต่สีหายาก ก็เลยมาสาดน้ำแทน โอ้โห..เข้ากับบริบทมากเลย กำลังร้อนอยู่พอดี เรื่องพวกนี้ก็เลยส่งผ่านกันไป ส่งผ่านกันมาแบบนี้
     
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,569
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,728
    ค่าพลัง:
    +26,586
    แบบเดียวกับที่ญาติโยมหลายท่านตามอาตมภาพไป ไม่ว่าจะขึ้นไปทิเบต ขึ้นไปเนปาล ออกไปทางด้านสิกขิม แคชเมียร์ เลห์ ลาดัก ถึงเวลาเขาจะมีผ้ามาคล้องคอต้อนรับให้ ถ้าเป็นบ้านเราก็คือพวงมาลัยนั่นเอง

    แต่ที่บ้านเขาหนาวมาก ปีหนึ่งหนาวถึง ๘ - ๙ เดือน ดอกไม้หายากสุด ๆ เขาก็เลยปรับเอาผ้าที่เป็นของหายาก เพราะว่าทอมากับมือกว่าที่จะได้แต่ละผืน เอามามอบให้กับแขกหรือว่ามาต้อนรับแขก ในลักษณะที่ว่าให้ของดีให้ของแพงแสดงน้ำใจของเจ้าของที่ นี่คือการปรับวัฒนธรรม หาดอกไม้ไม่ได้แล้วจะไปเอาจากไหน ? จึงเปลี่ยนเป็นผ้าแทน บ้านเราหาสียาก สีแพงก็ใช้น้ำแทน

    สมัยก่อนเขาไม่เรียกว่าสี เขาเรียกว่า "รงค์" เคยได้ยินไหม ? บางอย่างที่เอามาทำสีได้เขาเรียก "รงควัตถุ" วัตถุสำหรับทำสี เอาง่าย ๆ เลยก็ สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน สีส้มจากดอกฝ้ายคำ สีครามจากต้นคราม เป็นต้น

    สมัยอาตมภาพเด็ก ๆ ไม่มีคำว่าสีน้ำเงินนะ มีแต่ "สีขาบ" กับ "สีคราม" สีขาบก็คือสีฟ้าเข้มที่สมัยนี้เรียกว่าสีน้ำเงิน สีครามก็คือสีฟ้าอ่อน ส่วนประเภทสีฟ้าน้ำทะเล โอเชียนบลู (ocean blue) หรือสีเทอร์คอยส์ (turquoise) ไม่มี สีพวกนี้ตามฝรั่งมาทีหลัง สมัยนั้นมีแต่สีขาบกับสีคราม สมัยนี้ถ้าเรียกว่าสีขาบเราก็ไม่รู้จัก..ใช่ไหม ?

    อย่าง "สีกากี" นี่รู้จักกัน แต่ไม่รู้ว่าสีกากีมาจากไหน..ใช่ไหม ? "กากี" เป็นภาษาเปอร์เซียแปลว่า "สีน้ำตาล" คนไทยพอได้ยินว่าเขาเรียกกากี ก็เรียกกากีตามเขาไปด้วย บ้านเราเรียกสีน้ำตาล

    คราวนี้ปวดหัวอีกเพราะว่าน้ำตาลที่กินกันสีขาวจ๋องเลยนี่นา ? แล้วที่เรียกว่าสีน้ำตาลทำไมสีออกมาเป็นแบบนี้ ไม่เป็นสีขาว ? ก็คุณเกิดไม่ทัน สมัยก่อนน้ำตาลไม่ได้ฟอก เขากวนน้ำตาลมาจากอ้อยสีก็เลยออกมาเป็นสีแบบนั้น ดีไม่ดีไหม้หน่อยก็เป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เป็นสีช็อกโกแลตไปเลย ถ้าหากว่าใครฝีมือดี ๆ หน่อยใจเย็น ๆ ใช้ไฟอ่อน ๆ ค่อย ๆ กวนก็ออกมาเป็นสีน้ำตาลอ่อน นั่นคือสีของน้ำตาลจริง ๆ

    ปัจจุบันนี้ที่เห็นเป็นสีน้ำตาลทรายขาว ก็เพราะเขาฟอกสีแล้ว
    ถ้ากินเข้าไปเยอะ ๆ พร้อมที่จะเกิดมะเร็ง บอกแล้วว่าอย่าให้ "เล่าความหลัง" คนแก่มีเรื่องให้เล่าเยอะมาก..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,569
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,728
    ค่าพลัง:
    +26,586
    สงกรานต์จึงเข้ามาในบ้านเราเมืองเราโดยวัฒนธรรมอินเดีย โดยมักจะมากับพวกนักบวชที่ติดไปกับกองคาราวานทางบกทางน้ำต่าง ๆ ที่เขาเรียกกันว่าพราหมณ์ พวกนี้ส่วนใหญ่มีความรู้มาก ศึกษาจบไตรเพทมา มีฤคเวท ยชุรเวท สามเวท เหล่านั้น

    พวกเวททั้งหลายเหล่านี้จริง ๆ ก็คือคำโคลง คำกลอน ที่เขาไว้สรรเสริญพระเจ้าของเขา เอาไว้สำหรับอ้อนวอนขอความสำเร็จจากพระเจ้าของเขา เขาก็ถ่ายทอดกันเฉพาะในวรรณะของตัวเอง พวกพราหมณ์ก็เลยเป็นเจ้าพิธีกรรม พวกกษัตริย์ก็มีหน้าที่ป้องกันประเทศ รบรากับประเทศอื่น ๆ

    พวกไวศยะหรือแพศย์ ซึ่งปัจจุบันนี้มียี่ห้อสินค้าแพศยา นั่นก็คือคำว่าแพศย์ที่แปลว่าพ่อค้า ก็มีหน้าที่ค้าขายนำเอาวัฒนธรรมต่าง ๆ เผยแผ่ไปกับกองเกวียนของตนเอง กองเกวียนสมัยก่อนไปกันแต่ละทีก็ ๒๐๐ เล่มเกวียน ๓๐๐ เล่มเกวียน ๕๐๐ เล่มเกวียน บรรดาพ่อค้าส่วนใหญ่ก็เป็นมหาเศรษฐี เรานึกถึงเกวียน ๑ เล่ม มีคนขับเกวียน ๑ คน คนคอยดูแลวัวดูแลสินค้า ๒ คน ตีว่าเอาแค่นี้ เกวียน ๑ เล่มมี ๓ คน ถ้ามีเกวียน ๕๐๐ เล่มปาไปกี่คนแล้ว ? กองทัพส่วนตัวดี ๆ นี่เอง..!

    อย่างธนัญชัยเศรษฐีถึงเวลาย้ายไปอยู่เมืองสาวัตถี ปรากฏว่าขนคนไปสองแสนคน..! แทบจะไปรบราฆ่าฟัน แย่งบ้าน ปล้นเมืองเขาได้เลยนะนั่น..! ยังดีที่ไม่ได้มีนิสัยอย่างนั้น เป็นแค่พ่อค้า ก็เลยทำให้คิดว่าถ้าเข้าไปในตัวเมือง คนอื่นจะเดือดร้อนเยอะ เพราะอยู่ ๆ มีสองแสนคนมาแย่งกันกินแย่งกันใช้

    ธนัญชัยเศรษฐีเห็นที่เหมาะ ๆ อยู่ก่อนที่จะเข้าเมือง เป็นที่ว่างกว้างใหญ่มาก จึงกราบทูลถามพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า "ตรงนี้เป็นที่ของใคร ?" แล้วก็ให้เหตุผลว่าถ้าเข้าไปในเมืองจะสร้างความวุ่นวายขนาดไหน ? แต่ถ้าอยู่ตรงนี้จะสะดวกกว่า

    พระเจ้าปเสนทิโกศลบอกว่าเป็นที่ของตนเอง สมัยนั้นใช้คำว่า "พระเจ้าแผ่นดิน" คือแผ่นดินทุกตารางนิ้วถ้าไม่ทรงอนุญาต เป็นของพระองค์ทั้งหมด เพราะว่า รบรา ฆ่าฟัน แย่งชิง ป้องกัน มาด้วยตนเอง พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงมอบให้ธนัญชัยเศรษฐี สร้างเมืองสาเกตขึ้นมาเป็นคู่แฝดกับสาวัตถี ไปไกลแล้ว..อยู่เมืองไทยยังไม่ค่อยจะรู้เรื่องเลย ไปไกลถึงอินเดียแล้ว..!

    เวลาไปไหนไม่ค่อยอยากคุยเพราะว่าเหนื่อยอยู่คนเดียว ถึงเวลาไม่มีแรงจะเดินเที่ยว คุณนวลจันทร์ เพียรธรรม ของเอ็นซีทัวร์ ก็มักจะส่งไมค์มาให้ "หลวงพ่อเจ้าคะ เอาเรื่องโน้นหน่อย เอาเรื่องนี้หน่อย" ไม่เอา..ตอนนี้เที่ยวอย่างเดียว เล่ามาก ๆ คนแก่หมดแรง เดินไม่ไหว..!
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...