บทความให้กำลังใจ(พุทธศาสนาในโลกกว้าง เลียบแม่น้ำ ข้ามขุนเขา ธุดงค์ในญี่ปุ่น)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    52,250
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,073
    (ต่อ)
    ความพอเพียงก็คือว่า คุณยังต้องทำเหมือนเดิม ทำ 1 วัน คุณได้มา 45 บาท คุณใช้ 30 ที่เหลืออีก15 บาท คุณไม่ได้เอามาใช้ในการบริโภคเพิ่มเติม แต่ว่าเอาไปใช้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม เอาไปให้วัดให้วา ทำบุญทำกุศลหรือว่าช่วยเหลือคนที่เดือนร้อน นี่คือ “วิถีชีวิตพอเพียง” ในความหมายของหลักพุทธศาสนาคือ บริโภคน้อยแต่ทำมาก มีเวลาอยู่กับครอบครัว มีเวลาช่วยเหลือสังคมด้วยและก็มีเวลาอยู่กับตัวเองในการปฏิบัติธรรม

    ทัศนคติพื้นฐานเพื่อพัฒนาสุขภาวะ : ปัจจัยกำหนดสุขภาวะ
    ทัศนะคติพื้นฐานที่นำไปสู่สุขภาวะทั้ง 4 ประการ ได้แก่
    หนึ่ง คิดถึงส่วนรวม คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง เวลานี้คนไทยคิดถึงตัวเองมากกว่าคนอื่น จะทำอะไรก็จะถามว่าทำแล้วฉันจะได้อะไร ไม่เคยถามว่าทำแล้วสังคมจะได้อะไร การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้ยากลำบากมาก เพราะรณรงค์สิ่งแวดล้อมต้องทำให้คนคิดถึงส่วนรวมมากกว่าความสะดวกสบายส่วนตัว ทำไมไม่ควรใช้โฟม หรือเปิดแอร์เต็มที่ ก็เพราะมันก่อปัญหาแก่ส่วนรวม คนเราจะไม่ใช้โฟมหรือไม่เปิดแอร์ฟุ่มเฟือยก็ต่อเมื่อคิดถึงส่วนรวมมากกว่าความสะดวกสบายส่วนตัว แต่คนไทยตอนนี้คิดถึงตัวเองมากกว่าส่วนรวม คิดถึงตนเองมากกว่าคนอื่น คิดถึงตัวเองมากกว่าลูก คิดถึงตัวเองมากกว่าผัวหรือเมียด้วยซ้ำ

    สอง เห็นว่าความสุขไม่ได้เกิดจากวัตถุอย่างเดียวแต่มาจากที่อื่นด้วย ตอนนี้มีการรณรงค์ “ไม่ซื้อก็สุขได้” คนมักจะคิดว่ามีความสุขจากการซื้อ แต่อาตมาคิดว่าไม่พอ ต้องบอกว่า “สุขได้เพราะไม่ซื้อ” ซื้อแล้วทุกข์ไม่รู้ว่าจะเก็บไว้ที่ไหน ไม่รู้จะเที่ยวที่ไหนเพราะมีเงินมากเหลือเกิน ทุกข์เพราะซื้อมากเหลือเกิน บางคนมีเสื้อมากไม่รู้จะใส่ตัวไหน มีรองเท้าเป็นพันคู่เครียดไม่รู้จะใส่คู่ไหน แต่ที่จริง ความสุขหาได้จากการทำงานและเสียสละ เช่น โครงการจิตอาสา ชวนคนทำความดี มีความสุขได้โดยทำความดี มีคนหนึ่งเขาไปนวดเด็กที่บ้านปากเกร็ด (เป็นเด็กกำพร้า กล้ามเนื้อลีบเพราะไม่มีใครอุ้ม) 2-3 ครั้งทุกสัปดาห์ เดิมเขาเป็นไมเกรน แต่การทำเช่นนี้ทำให้เขาหายไมเกรน ลืมกินยาไปเลย เด็กให้ความสุขแก่เขามาก ไม่ใช่เขาไปให้ความสุขแก่เด็กเท่านั้น กรณีนี้เป็นตัวอย่างการได้รับความสุขที่ไม่ได้มาจากการบริโภคเพียงอย่างเดียว

    ตอนนี้คนไทยวัยรุ่น หนุ่มสาวไม่ค่อยเข้าใจ แต่เมื่อเขาได้ทำเขาจะรู้ได้และพบว่า ความสุขเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นสิ่งที่เงินทองซื้อไม่ได้

    สาม พึ่งพาน้ำพักน้ำแรงและความเพียรพยายามของตนเอง ไม่หวังลาภลอยคอยโชคและรวยลัด เช่น เล่นการพนัน เล่นหวย หวังพึ่งแต่จตุคามรามเทพ (ซึ่งแม้ทุกวันนี้จะตกสมัยแล้วสิ่งศักดิ์สิทธิอื่นก็มาแทนที่) การโกงข้อสอบ การคอรัปชั่น เป็นผลมาจากความคิดว่าทำอย่างไรจะรวยโดยไม่ต้องเหนื่อย นักศึกษาก็คิดว่าทำอย่างไรจะเรียนดีได้โดยไม่ต้องเหนื่อย ทำอย่างไรจะได้คะแนนดีโดยไม่ต้องสอบ ถ้าไม่โกงก็ไปขอคะแนนจากอาจารย์ โดยการให้บริการพิเศษแก่อาจารย์เพื่อที่จะได้คะแนนดี

    สี่ คิดดี คิดเป็น เห็นตรง ไม่คิดเอาแต่ใจตนเอง คือ รู้จักคิด คิดเกื้อกูลคิดเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เอาความถูกต้องเป็นหลัก ความถูกใจเป็นรอง

    นี่คือทัศนคติที่จะนำไปสู่สุขภาวะ 4 ประการ

    สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมถอย: อุปสรรคของการเกิดทัศนคติพื้นฐาน

    อยากจะย้ำว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ปัจจัยส่วนบุคคล เมื่อกล่าวถึงสุขภาวะไม่ว่าของคนหรือสังคมมี 2 ด้านที่จะพิจารณาคือ “ทัศนคติ และสิ่งแวดล้อม” ทัศนคตินี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ สิ่งแวดล้อม ระบบการศึกษา สื่อสารมวลชน อาศัยสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลด้วย แต่ปัจจุบันทัศนคติพื้นฐานเกิดขึ้นได้ยากเพราะสิ่งแวดล้อมชักนำไปในทางไม่ดีหรือไม่เกื้อกูล

    ยกตัวอย่างง่าย ๆ อิทธิพลของพื้นที่เสี่ยง หมายถึง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยง มีงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของเยาวชน พบว่า มีความสัมพันธ์อย่างมากกับจำนวนพื้นที่เสี่ยง เช่น ที่จังหวัดระยองมีพื้นที่เสี่ยงอยู่ประมาณ 340 แห่งต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งมีสูงมากถึง 40 เท่า ของอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ที่มี 29 แห่งต่อประชากร 100,000 พื้นที่เสี่ยงเหล่านี้จะไปสัมพันธ์กับพฤติกรรมของเด็กเยาวชนในจังหวัดระยองที่มีปัญหาสูงมาก เช่น เด็กอยู่ในสถานพินิจ 119 ต่อ 100,000 คน เป็น 2 เท่าของอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ อัตราผู้ขอรับการบำบัดยาเสพติด 802 ต่อ 100,000 คน เป็น 10 เท่าของอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ เยาวชนตั้งครรภ์ก่อนอายุ 14 ปี อัตราเฉลี่ย 90 คนต่อ 100,000 คน คือสูงเกือบ 4 เท่าของอัตราเฉลี่ย ส่วนการทำแท้งไม่มีตัวเลข แต่จำนวนเด็กคลอดก่อนอายุ 19 ปี มีถึง 2,772 คน หรือคิดเป็น 2 เท่าของอัตราเฉลี่ยของทั้งประเทศ เด็กถูกละเมิดทางเพศที่อายุไม่เกิน 18 ปี คิดเป็น 22 คนต่อ 100,000 คน นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับ 6 คนต่อ ๑๐๐,๐๐ ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ

    จึงสังเกตได้ว่าจังหวัดระยองมีอัตราเสียงที่เกิดจากพื้นที่เสียงสูงมากสัมพันธ์กับพฤติกรรมของเด็ก และถ้าเทียบกับจังหวัดตราดที่มีพื้นที่เสี่ยง 37 แห่งต่อประชากร 100,000 คน (เกือบเท่าอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ 29 แห่ง) พื้นที่ดี (เช่น วัด ห้องสมุด สนามกีฬา) 130 แห่งต่อประชากร 100,000 คน จังหวัดตราดจึงมีปัญหาพฤติกรรมเยาวชนต่างจากระยองมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระยองเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาสูง

    เทียบตัวชี้วัดตัวนี้ตัวเดียว จะเห็นว่าสุขภาวะทางสังคมอยู่ในภาวะที่แย่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อม คือ พื้นที่เสี่ยง ยังไม่ได้พูดถึงสื่อมวลชน ศูนย์การค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ระบบการศึกษา
    ระบบการศึกษาหรือโรงเรียนตอนนี้ก็ล้มเหลว ไม่อาจทำหน้าที่ให้การศึกษากับเยาวชนได้ อาจกล่าวได้ว่า บางทีอยู่โรงเรียนเสี่ยงเจ็บตัวกว่าอยู่ข้างนอก จะถูกซ้อมเมื่อไหร่ก็ได้ มีการตบตี เพราะมีขาใหญ่ แม่เล้า ที่สามารถชักจูงเพื่อนๆ ไปขายตัว โดยครูอาจจะไม่ได้ช่วยเหลือ ไม่ต้องพูดถึงช่วงรับน้องใหม่ ซึ่งเสี่ยงที่จะตายได้ หรือเจ็บตัวได้ ระบบโรงเรียนเวลานี้ไม่ทำงานเช่นเดียวกับครอบครัว ระบบการศึกษามักส่งเสริมทัศนคติเรื่องการบริโภค สอนให้รู้จักทางลัดใครรู้จักประจบประแจงครูก็ได้เกรดดี สิ่งเหล่านี้เป็นหลักสูตรแอบแฝง หลักสูตรทางการนี้สวยงาม ส่วนหลักสูตรแอบแฝงคนละเรื่อง แต่มีอิทธิพลต่อเด็กมากกว่าหลักสูตรทางการหรือหลักสูตรปกติ

    ระบบการศึกษา สื่อมวลชน ทั้งหมดนี้ก็เชื่อมโยงไปถึงนโยบายทางสังคม นโยบายการศึกษา รวมทั้งระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนเห็นว่า ความขยันหมั่นเพียรไม่มีประโยชน์ สู้ใช้เส้นทางลัด สู้วิธีการคอร์รัปชั่นไม่ได้ เช่น นายทุนท้องถิ่นมักทำให้คนคิดว่าการรวยทางลัดดีกว่าการพึ่งพาน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องของระบบเศรษฐกิจที่บ่มเพาะทัศนคติแบบนี้ขึ้นมา คนเลยคิดว่าวิถีชีวิตพอเพียงเป็นเรื่องตลก เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เห็นใครพอเพียงสักคน และไม่คิดว่าความพอเพียงอาจจะเป็นทางออกของชีวิตได้ ความหลงผิดเกี่ยวกับชีวิต ทรัพย์สินเงินทอง และความสุข จึงหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ
    ธรรม สุขภาวะ กับนโยบายสาธารณะ
    ปัญหาเรื่องความเชื่อมโยงของปัจจัยทางสังคม มีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาวะแต่ละด้านมาก เช่น เรื่องอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องสุขภาวะทางกาย
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    52,250
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,073
    (ต่อ)
    เมืองไทยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ซึ่งพบว่ามันเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวกับปริมาณถนน ผิวถนน คุณภาพถนน แต่เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนซึ่งเชื่อมโยงกับกฎหมาย เช่น จังหวัดขอนแก่น เมื่อเริ่มรณรงค์ให้เคารพกฎจารจร และใช้หมวกกันน็อก ปรากฏว่าสามารถลดอุบัติเหตุได้มาก นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย หัวหน้าศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลขอนแก่น ให้สัมภาษณ์บอกว่า

    “ผมผ่าตัดคนไข้มาทั้งชีวิต ยังช่วยคนได้น้อยมากถ้าเทียบกับการรณรงค์ให้คนใส่หมวกกันน็อกแค่ 6 เดือนก่อนหน้านั้น”
    หมวกกันน็อก จึงเป็นเรื่องของนโยบายสาธารณะ ซึ่งสัมพันธ์กับสุขภาวะโดยตรง เมื่อเราพูดถึงเรื่องยาเสพติด เรื่องโรคเอดส์ ก็เป็นเรื่องสุขภาวะทางกาย แต่มันก็มีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคมอื่นๆ มากมาย เช่น ความไม่รู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ การส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งมีอุตสาหกรรมทางเพศมาเกี่ยวข้อง ทำให้โรคเอดส์ระบาด การมีผู้หญิงมาทำงานทางเพศเพราะยากจน เชื่อมโยงกับนโยบายที่ไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เกิดระบบเศรษฐกิจที่เอารัดเอาเปรียบ นโยบายการพัฒนาที่ไม่สมดุล การศึกษาที่ไม่พัฒนาคน พอจบ ม.6 ม.3 ก็ไม่มีงานทำ ไม่มีความสามารถ คนจำนวนไม่น้อยจึงเลือกมาทำงานบริการทางเพศ ขายตัว แล้วก็เกิดปัญหาโรคเอดส์ รวมทั้งค่านิยมที่ผลักภาระให้ผู้หญิงต้องรับผิดชอบ เกี่ยวกับครอบครัว ศาสนาด้วย
    ปัญหาสุขภาวะ ไม่ได้มีแค่ทัศนคติรักนวลสงวนตัวอย่างเดียว หากแต่เชื่อมกับสิ่งแวดล้อม นโยบายเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา นโยบายการพัฒนา บทบาทสถาบันศาสนาด้วย หากไม่จัดการแก้ไขให้ดี มันก็จะเกิดปัญหาโรคเอดส์อยู่วันยังค่ำ ไม่อาจแก้ได้ตลอด รอดฝั่ง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสุขภาวะทางกายนี้เชื่อมโยงกับนโยบายสาธารณะของสังคมมากทีเดียว
    ปัญหาสิ่งเสพติด เช่นเหล้า มีคนดื่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเหล้าหาซื้อง่าย มีคนทำวิจัยว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทุกหนแห่งทั่วประเทศ คนไทยสามารถหาซื้อเหล้าได้ภายในเวลา 7 นาที ในเมืองก็มีร้านสะดวกซื้อ ในหมู่บ้านก็ร้านเหล้าทั่วไป เดินหรือขี่มอเตอร์ไซค์ไปเพียง 7 นาที ก็ซื้อได้ ดังนั้น ปัญหาสิ่งเสพติดต่างๆ ไม่ใช่มาจากเรื่องทัศนคติอย่างเดียว แต่มาจากการเข้าถึงง่ายด้วย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการควบคุมแหล่งที่มาหรือการเข้าถึง รวมทั้งสัมพันธ์กับนโยบายทางสังคมด้วย ไม่ได้มีแต่เรื่องสำนึกทางศาสนา ว่าต้องมีศีลห้าอย่างเดียว

    ถึงที่สุดแล้วสุขภาวะทั้ง 4 ประการนี้ เราต้องมองให้เห็นว่ามันเชื่อมโยงกับกลไกลทางสังคมอย่างไรบ้าง ซึ่งจะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ด้วยนโยบายสาธารณะ และนโยบายถ้าจัดการดีๆ มันช่วยแก้ปัญหาและเป็นวิธีการที่ถูกมาก เช่น กรณีคุณหมอวิทยาที่ต้องผ่าตัดช่วยชีวิตคนประสบอุบัติเหตุ ท่านบอกว่าผ่าตัดทั้งชีวิตก็ไม่เท่ารณรงค์เรื่องใส่หมวกกันน็อก มันเป็นนโยบายป้องกัน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้มาก ได้เร็วขึ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้มีงานศึกษาเรื่องผู้ป่วยในห้องไอซียู ที่มักติดเชื้อปอดบวมและเสียชีวิต ถามว่าเชื้อมาจากไหน ศึกษากันตั้งนาน จึงพบว่าแท้ที่จริงแล้วปัญหามาจากท่อที่ใส่เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยมีการติดเชื้อ หมอและพยาบาลช่วยผู้ป่วยหนักให้ฟื้นขึ้นมา แต่กลับมาตายเพราะโรคติดเชื้อที่มาจากท่อที่หมอใส่ให้ วิธีการแก้ไขจึงง่ายมาก ผู้ศึกษาจึงมีข้อเสนอสำหรับหมอและพยาบาลในห้องไอซียูของโรงพยาบาล 5 ประการ คือ ล้างมือด้วยสบู่ ทำความสะอาดผิวหนังผู้ป่วย เอาผ้าคลุมร่างผู้ป่วย สวมหน้ากาก หมวก และ ถุงมือ เอาผ้าปลอดเชื้อปิดทับท่อบริเวณที่ใส่เข้าไปในร่างกาย ที่ผ่านมาโรงพยาบาลไม่ได้ทำ ๕ประการอย่างครบถ้วน ก็รณรงค์ให้พยาบาลตรวจเช็ค ระยะแรกหมอจะไม่ยอมให้พยาบาลเช็คตัวเอง แต่ที่สุดก็ยอม ปรากฏว่าการตายจากภาวะติดเชื้อลดลงจากร้อยละ 11 จนเป็นศูนย์ ภายในเวลา 10 วัน สามารถช่วยชีวิตคนได้หลายสิบคนในช่วง 3 เดือน นอกจากนั้นยังสามารถประหยัดงบประมาณได้หลายล้านเหรียญสหรัฐ ไม่มีคนเชื่อว่าทำแค่ 5 อย่างนี้เอง จึงมีการรณรงค์เรื่องนี้กับโรงพยาบาลของรัฐที่รัฐมิชิแกน ซึ่งมีอัตราการตายในห้องไอซียูสูง ให้ผู้อำนวยการตรวจตราดูว่ามีสบู่ครบไหม บางโรงพยาบาลสบู่ไม่พอ แต่พอทำแล้วปรากฏว่า 3 เดือนแรก อัตราการตายเพราะติดเชื้อลดลงร้อยละ 66 แค่ 18 เดือนแรกประหยัดงบประมาณไป 175 ล้านเหรียญฯ รวมทั้งสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ 1,500 กว่าราย

    ที่กล่าวมานี้ พยายามชี้ว่าวิธีการแก้ปัญหา อาจสามารถทำเรื่องง่ายๆ 4 - 5 เรื่อง ส่งผลให้ประหยัดงบประมาณ เพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตคนได้มากกว่าการค้นคิดผลิตเทคโนโลยีมากมาย คุณช่วยเหลือผู้ป่วยสมองกะโหลกร้าวซึ่งเป็นโรคที่รักษายากได้จนเกือบจะรอดแล้ว แต่ต้องมาตายเพราะติดเชื้อจากท่อหรือสายยาง

    การใช้มาตรการบางอย่างแลดูเหมือนง่าย แต่มีพลังในการช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพมาก หากเราหันมาให้ความสนใจคิดเรื่องนี้ พยายามคิดนโยบายที่ดูมันไม่ยากมาช่วยแก้ปัญหา อย่าไปดูถูกเรื่องที่ง่ายไม่ซับซ้อน เหมือนอย่างกรณีที่คิดว่าเราอาจควบคุมพื้นที่เสี่ยงได้ โดยไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียว แต่ด้วยวิธีอื่นด้วย อาทิ การนำเอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยแก้ไข ถ้าลดพื้นที่เสี่ยงได้ เชื่อว่าเราจะลดปัญหาเยาวชนได้เป็นจำนวนมาก เพราะบางอย่างมันมีผลเชื่อมโยงกันอย่างที่เรานึกไม่ถึง

    ทั้งหมดนี้ จะเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง สิ่งที่เรียกว่า ธรรม สุขภาวะ และนโยบายสาธารณะ ที่จะเข้ามาเสริมช่วยให้เกิดความเกื้อกูลให้เกิดสุขภาวะทั้ง 4 ประการอย่างครบถ้วน ทั้งในระดับบุคคล และสังคม
    :- https://visalo.org/article/healthDhamperSukapawa.htm
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    52,250
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,073
    พุทธศาสนาในโลกกว้าง
    เลียบแม่น้ำ ข้ามขุนเขา ธุดงค์ในญี่ปุ่น
    พระไพศาล วิสาโล
    ต้นเดือนพฤษภาคมในญี่ปุ่น เป็นช่วงที่เรียกว่า golden week เนื่องจากมีวันหยุดติดต่อกันหลายวันคล้ายๆเทศกาลสงกรานต์ตรงที่คนญี่ปุ่นนิยมเดินทางไกลจึงไม่สะดวกที่เราจะเดินทางไปไหนมาไหนเพราะรถไฟจะแน่นขนัดไปด้วยผู้คน และจะมีธุระไปหาใครก็ไม่เหมาะเพราะเขาจะไปเที่ยวกันเป็นส่วนใหญ่ เราจึงคิดเดินธุดงค์ในช่วงนี้แทน ดังที่ได้บอกแล้วว่า เดิมตั้งใจจะธุดงค์ไปเมืองกามากูระ ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางพุทธศาสนาเมื่อ ๗๐๐ – ๘๐๐ ปีก่อน ร่วมสมัยกับยุคสุโขทัย แต่ก็มีคนแนะนำว่าตลอดเส้นทางจะเนืองแน่นไปด้วยรถ ทัศนียภาพไม่เหมาะแก่การเดินเท้า กอปรกับมีคนไทยที่จังหวัดนากาโน่อยากให้เราไปเยือน จึงเปลี่ยนแผนไปธุดงค์ที่นากาโน่แทน

    ยกเว้นเรื่องอากาศที่หนาวพิเศษกว่าภาคอื่นๆ แล้ว นากาโน่นับเป็นสถานที่เหมาะแก่การธุดงค์มาก เพราะรู้จักคนญี่ปุ่นหลายคนที่สนใจช่วยเหลือคนไทย อีกทั้งเมืองต่างๆ ตามรายทางก็มีคนไทยอยู่กันมาก เราตกลงว่าจะเริ่มต้นที่หมู่บ้านโยชิโห เมืองซากุ อันเป็นบ้านของหมอเดอูร่าซึ่งเอื้อเฟื้อพวกเราตั้งแต่มาถึงญี่ปุ่นใหม่ๆ จุดหมายคือวัดเซนโกจิแห่งเมืองนากาโน่ อันเป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปสุโขทัยประดิษฐานตั้งแต่ ๖๐ ปีที่แล้ว

    ข้าพเจ้า พระยูกิ และปรีดา ออกเดินทางไปนากาโน่ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พร้อมกับชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งเป็นคนนำทางและพาเราสำรวจเส้นทางธุดงค์ ที่จริงเราต้องการที่จะธุดงค์แบบง่ายๆ คือไม่ต้องมีการวางแผนมาก เพียงแค่มีแผนที่ก็พอ กับเตรียมที่พักตามรายทางไว้บ้าง รวมทั้งแจ้งคนไทยตามเมืองต่างๆ ไว้แต่เนิ่นๆ แต่เอาเข้าจริงๆ กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ มีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ๆ คนญี่ปุ่นหลายต่อหลายคนถูกดึงเข้ามาร่วม มีการติดต่อประสานงานกับคนหลายฝ่าย รวมทั้งสื่อมวลชนทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เรียกว่างานนี้มีกองสนับสนุนที่ใช้คนมากทีเดียว ทั้งๆที่คนเดินธุดงค์มีเพียงไม่กี่คน เปรียบเหมือนกับภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ยอดออกมานิดเดียว แต่ข้างล่างนั้นเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดมหึมา นี้อาจเป็นวิธีการทำงานแบบคนญี่ปุ่นก็ได้

    ยังไม่ทันจะออกธุดงค์ก็มีสื่อมวลชนมาสัมภาษณ์ทันทีที่ถึงบ้านพักของหมอเดอูร่า มีโทรทัศน์ ๑ ช่อง หนังสือพิมพ์ ๒ ฉบับ ทุกคนมาเพราะรู้ว่าการธุดงค์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือคนไทย ซึ่งมีอยู่หลายพันที่จังหวัดนี้ (แม้ตัวเลขทางการจะมีแค่ ๘๐๐ คนเศษ) แต่เขาอยากรู้มากกว่านั้นว่าเราจะมาทำอะไรบ้าง ส่วนหนึ่งเข้าสนใจรูปแบบการธุดงค์ด้วยว่า จะมีความหมายต่อคนไทยที่นี่อย่างไร

    ธุดงค์วันแรกก็มีอุปสรรคเพราะฝนตกตั้งแต่เช้า แต่เราก็ไม่เปลี่ยนแผน โดยเริ่มจากการทำกิจวัตรประจำวันได้แก่บิณฑบาต การบิณฑบาตของพระไทยเป็นเรื่องแปลกสำหรับที่นี่อย่างไม่ต้องสงสัย เท่าที่รู้ เคยมีพระจากเมืองไทยมาธุดงค์และบิณฑบาตที่นี่ แต่เป็นพระญี่ปุ่นที่ไปอยู่กับหลวงพ่อชา ชะดีชะร้ายข้าพเจ้าอาจจะเป็นพระไทยคนแรกที่มาบิณฑบาตที่ญี่ปุ่นก็ได้

    บิณฑบาตวันแรกก็ได้อาหารจากทางบ้านของหมอเดอูร่า เช้านั้นมีคนไทยนำอาหารมาถวายด้วย แต่มาไม่ทัน เมื่อได้เวลา ๘.๓๐ น. ก็ออกเดินทาง วันนี้เราจะต้องเดินทาง ๓ ชั่วโมงเพราะจุดหมายคือเมืองนากาโกมิ ซึ่งอยู่ห่างไป ๑๒ กิโลเมตร ที่นั่นญาติโยมคนไทยรอถวายเพลอยู่

    ฝนตกตลอดเช้า แต่ก็หยุดหรือพักนานไม่ได้ เราถึงที่หมายทันกำหนด มีคนไทยเรารวมกันที่ร้านอาหารวีนัสประมาณ ๒๐ คนเศษ หลังจากฉันแล้วก็สวดพุทธมนต์ ก่อนจะพรมน้ำมนต์ก็แสดงธรรมโดยเน้นเรื่องความสามัคคีและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กับให้ห่างจากอบายมุขและการพนัน จากนั้นก็มีการเจิมร้านของคนไทย ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นแบบแผนทางด้านพิธีกรรมของเราตลอด ๗ วันที่ธุดงค์ โดยมีการยักเยื้องเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย

    บ่ายครึ่งก็เดินทางต่อ ลืมบอกไปว่าวันแรกนอกจากพระ ๒ คนไทย ๑ แล้ว ยังมีคนญี่ปุ่นร่วมเดินอีก ๑ คน คือคุณคาวามูระซึ่งเป็นมัคคุเทศก์นำทางเราตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน เขาสนใจการธุดงค์ และขอเข้าร่วมด้วย คุณคาวามูระได้ร่วมเดินทางกับเรารวม ๓ วัน และได้กลายเป็นเพื่อนที่มีความหมายมากกว่าเพื่อนร่วมทาง นิสัยใจคอที่ซื่อและมีอารมณ์ขันทำให้ธุดงค์ครั้งนี้มีชีวิตชีวาและน่าประทับใจ ความคุ้นเคยในช่วงไม่กี่วันทำให้เขาสนใจที่จะมาเมืองไทยภายในปีนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปรีดีรับปากว่าจะหาแฟนให้เขาที่เมืองไทยก็ได้

    ช่วงบ่ายเดินได้ไม่ถึง ๒ ชั่วโมงก็ต้องหยุด เพราะ ๔โมงเย็นมีกิจนิมนต์ต้องไปสวดมนต์เย็นให้คนไทยคนหนึ่งที่เพิ่งเสียภรรยาไปเนื่องจากอุบัติเหตุรถยนต์ นี่เป็นรายที่ ๒ ที่เราต้องไปสวดบังสุกุลให้เพราะคนขับเมาไม่ได้สติจนพาคนไปตาย ทั้งสองรายเป็นหญิงบริการอายุยังไม่ถึง ๓๐ คนขับเป็นแขกชาวญี่ปุ่นทั้งคู่
    ทุกวันเราจะเดินจนถึง ๔ โมงเย็นเท่านั้น จากนั้นก็จะเข้าที่พัก โดยมีรถพาไปส่ง วันรุ่งขึ้นรถก็จะมาส่งตรงจุดที่รถมารับวันก่อนนั้น เป็นการธุดงค์แบบประยุกต์เพราะที่นี่มีปัญหาเรื่องที่พัก จะใช้วิธีค่ำไหนนอนนั่นแบบที่เมืองไทยทำได้ยาก อากาศที่นี่ตอนกลางคืนหนาวพอดูจนไม่อาจจะกางเต็นท์หรือพึ่งถุงนอนได้
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    52,250
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,073
    (ต่อ)
    วันแรกพักที่บ้านคุณโยโกตะ ซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยเหลือหญิงไทยแบบสุดจิตสุดใจ ถึงขั้นยอมควักเงินพาคนป่วยและคนที่มีปัญหามาส่งที่เมืองไทยแทบทุกเดือน น้ำแร่ร้อนจากออนเซนที่เขาพาไปตอนกลางคืนช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายมาก วันที่ ๒ ก็เดินทางต่อ แต่บาตรและบริขารฝากไว้ที่บ้านคุณโยโกตะ เพราะจะต้องพักที่บ้านเขาอีกคืน จุดหมายวันนี้อยู่ที่เมืองโคโมโร่ เราเดินเลี่ยงถนนใหญ่เช่นเคย ลัดเลาะไปตามถนนเล็กถนนน้อย บ้านเรือนสองข้างทางสวยงามแต่เงียบราวไร้ผู้คน บรรยากาศแบบนี้เราจะได้ประสบตลอด ๗ วัน คงไม่ใช่เป็นเพราะวันหยุด วันธรรมดาก็เป็นเช่นนี้

    เราเริ่มสังเกตเห็นคนญี่ปุ่นบางคนพอนั่งรถผ่านเราก็ยกมือไหว้ แล้วไม่นานก็พบชายสูงวัยผู้หนึ่งหยุดรถรอเราข้างหน้า เมื่อเราไปถึงเขาก็ถวายเงินให้ เขาบอกว่ารู้เรื่องการธุดงค์ของเราจากหนังสือพิมพ์ ดูเหมือนว่าเรื่องของเราจะเป็นที่รับรู้ของคนจำนวนไม่น้อยในนากาโน่เพราะตลอด ๖ วันที่เหลือ เราจะพบปฏิกิริยาทำนองนี้จากคนญี่ปุ่นตามรายทาง การธุดงค์แม้จะเป็นธรรมเนียมของเถรวาท แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากแก่การเข้าใจสำหรับคนญี่ปุ่น เพราะเขาเองก็มีประเพณีจาริกแสวงบุญคล้ายๆ ธุดงค์ แต่ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเรื่องของพระเท่านั้น ฆราวาสทั้งหญิงและชายก็นิยมเดินไปตามสถานที่สำคัญทางศาสนา โดยไปกันเป็นกลุ่มๆ แต่นั่นเป็นเรื่องของอดีต เดี๋ยวนี้ประเพณีนี้แทบจะเลือนไปแล้ว กลายเป็นการยกโขยงกันไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แทน อย่างที่เรามักเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินกันเป็นแถวโดยมีคนถือธงนำหน้า นั่นคงถอดแบบมาจากการจาริกแสวงบุญในอดีต

    ใกล้เพล คุณโยโกตะก็ขับรถมารับเราเพื่อไปฉันเพลที่เมืองโคโมโร่ พอเราขึ้นรถก็สังเกตรถคันหนึ่งจอดข้างหน้า คนขับยืนอยู่ข้างรถมองมาทางเรา แต่งชุดสูทเหมือนกับจะไปทำงาน เราเอะใจก็เลยรอดู แล้วเขาก็เดินมาคุยด้วย พร้อมกับถวายเงินให้ เขาบอกว่ารู้จากข่าวโทรทัศน์ ที่จริงคืนแรกที่โทรทัศน์รายงานข่าวนี้ ก็มีคนญี่ปุ่นโทรศัพท์ไปที่สถานี เพราะอยากรู้ว่าจะติดต่อเราอย่างไร ทางสถานีก็ให้เบอร์โทรศัพท์บ้านคุณโยโกตะ เขาจึงโทรศัพท์ไปคุยกับคุณโยโกตะคืนนั้นเลย เขามีภรรยาคนไทย แต่เผอิญภรรยากลับเมืองไปเมืองไทย กระนั้นก็อยากพบเรา เสียดายที่เขาต้องไปทำงานวันรุ่งขึ้น จึงได้แต่ฝากขนมไว้ที่ร้านอาหารที่เมืองโคโมโร่ ซึ่งเราได้รับนิมนต์ไปฉันเพล

    ร้านเมโกะเป็นเจ้าภาพถวายเพลแก่เรา สังเกตว่าคนไทยที่เราพบในงานบังสุกุลเมื่อวานไม่ได้มาเลยสักคน ทั้งๆที่ได้บอกไว้แล้ว เลยเดาว่าคนไทยที่นี่คงจะแบ่งกันเป็นกลุ่มๆ การสันนิษฐานเช่นนี้คงจะเป็นความจริง เพราะหลังจากฉันเพล เราได้เดินทางต่อ กลางทางก็ได้ พบกับคนไทยคู่หนึ่งซึ่งไปทำบุญด้วยที่ร้านเมโกะพร้อมกับลูกน้อย เขาก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นจริง และพูดถึงประสบการณ์กับคนไทยที่นั่นว่า หลายคนก็ “เค็ม” เอามากๆ เอาเปรียบคนไทยด้วยกัน เช่น กดราคาเวลารับจำนำทอง และหวังเชิดไปเป็นของตนเอง บางรายเก็บทองไว้มากจนถูกฆ่า ครอบครัวนี้ว่าตนก็รับจำนำทองเหมือนกัน แต่ก็ไม่คิดจะเอามาเป็นของตน ทั้งสามกำลังจะกลับเมืองไทยในอีกไม่กี่อาทิตย์ ตอนนี้กำลังรอเงินจากการขายร้าน ตั้งใจว่ากลับเมืองไทยแล้วจะไปทำฟาร์มหมูที่เชียงใหม่ บ้านของฝ่ายหญิง เท่าที่พบ คู่แบบนี้ไม่มาก เพราะนอกจากจะแต่งงานกับคนไทยด้วยกันแล้ว ยังตั้งใจจะกลับเมืองไทย และไปทำอาชีพทางการเกษตร

    การธุดงค์วันนั้นสิ้นสุดที่ปราสาทโคโมโร่ ตกค่ำหลังจากกลับจากอาบน้ำแร่บนเขาอาซามะที่ยังมีน้ำแข็งจับหนาแล้ว ก็ไปเยี่ยมคนไทยที่เข้าชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่น ที่จริงนอกจากคนไทยแล้ว คนญี่ปุ่นก็มาเรียนด้วย แต่เรียนภาษาไทย เรียกว่ามาเรียนทั้งผัวทั้งเมีย รวมแล้วก็ประมาณ ๑๕ คน คุณโยโกตะเป็นครูคนหนึ่ง

    วันรุ่งขึ้น (๓ พฤษภาคม) เรานั่งรถมาบิณฑบาตที่ปราสาทแห่งนี้ บรรยากาศยามเช้าดีมาก ต้นไม้กำลังอวดดอกงาม หลายคนตื่นแต่เช้ามาเดินเล่น แต่อากาศหนาวไปหน่อย เราเดินบิณฑบาตไปถึงบ้านคุณโยโกตะแล้วก็ฉันเช้า

    วันที่ ๓ ของการธุดงค์ มีผู้ร่วมทางเพิ่มอีก ๓ คน คนแรกเป็นพ่อเลี้ยงคุณโยโกตะ อีก ๒ คนเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มาทำข่าวกับเรา ทั้งสองอยากรู้ด้วยตนเองว่าการเดินธุดงค์นั้นเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งคงเป็นความอยากรู้ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ที่ต้องการเข้าถึง “ข่าว” อย่างใกล้ชิด อีกส่วนหนึ่งคงเป็นความสนใจส่วนตัวควบคู่กับการอยากร่วมทางกับเรา หลังจากติดตามมาทำข่าวเป็นระยะๆ ทั้งสองก็มีความคุ้นเคยกับเรา มีความรู้สึกเป็นเพื่อนมากขึ้น เราได้เรียนรู้ในเวลาไม่นานว่า ธุดงค์ครั้งนี้ได้ช่วยถักทอมิตรภาพให้แก่เราอย่างไม่คาดฝัน เราไม่เพียงแต่จะร่วมเดินทางเดียวกันเท่านั้น หากยังได้พูดคุยสนทนากันระหว่างเดินบ้าง ขณะหยุดพักกลางทางบ้าง นอกจากนั้นยังได้กินข้าวชุดเดียวกัน มื้อกลางวันทุกมื้อเราทุกคนต่างได้ลิ้มรสอาหารไทย โดยเจ้าภาพอันได้แก่กลุ่มคนไทยถือว่า ทั้งพระและฆราวาสผู้ร่วมธุดงค์ต่างเป็นแขก ที่สมควรกินก่อนเขา

    ถึงตอนนี้ทัศนียภาพรอบตัวได้เปลี่ยนไป ตลอดเส้นทางจะเห็นเทือกเขาขนาบเป็นแนว กลางหุบเขามีแม่น้ำทอดขนานกับถนน ส่วนเมืองและหมู่บ้านอยู่ห่างออกไป ส่วนใหญ่เราจะเดินอยู่บนถนนสายหลัก ลัดเลาะผ่านหมู่บ้านเป็นครั้งคราว เมื่อใกล้ถึงเพล เราก็ผ่านเมืองเล็กๆ ที่ชื่อว่าโทบุ ปรากฎว่าแม้แต่เมืองเล็กก็ยังมีคนไทยอยู่กันนับร้อย ที่ขาดไม่ได้คือร้านอาหารไทยและร้าน “สแน็ค” ไทย (ร้านเหล้าที่แขกสามารถพาหญิงบริการออกไปข้างนอกได้)
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    52,250
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,073
    (ต่อ)
    ช่วงที่เราเดินเข้าเมืองนี้ มีคุณป้าคนหนึ่งพาหลานสาวตัวเล็กมารออยู่หน้าบ้าน พอเราเดินมาถึงก็มอบถุงลูกอมพร้อมกับเงิน พลางขอให้เราลูบหัวหลานสาวเพื่อเป็นสิริมงคล เราขอสวดมนต์และอวยชัยให้พรแทน กรณีคล้ายๆกันนี้เราจะเจอกันอีกในวันรุ่งขึ้น เมื่อเดินเลียบแม่น้ำ อันเป็นที่ที่คนนิยมมาตกปลาและปิคนิคกัน หนุ่มสาวคู่หนึ่งขอให้เราลูบหัวให้แก่ลูกน้อยซึ่งกำลังหลับอุตุในรถ แม่ลูกอ่อนบอกว่า ตอนที่เห็นเราในโทรทัศน์ก็อยากจะไปพบ แต่ไม่รู้ว่าจะไปหาที่ไหน แต่แล้วก็มาเจอโดยบังเอิญ นับเป็นโชค เจอแบบนี้หลายครั้งเข้าก็ทำให้เราตระหนักว่า เรามาธุดงค์ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อตัวเราเท่านั้น แต่ยังเพื่อคนอื่นอีกด้วย เพราะมีหลายคนที่ต้องการ มีส่วนทำบุญร่วมกับเรา ขณะเดียวกันก็อยากได้ส่วนแบ่งจากบุญที่เราได้บำเพ็ญด้วย

    ธุดงค์ครั้งนี้พาเราประสบสิ่งไม่คาดคิดหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือการได้ไป “ชน” กับเมืองเก่าอย่างเต็มตัว เหมือนกับเข้าไปสู่อดีตเมื่อร้อยกว่าปีก่อน อาคารบ้านเรือนแบบโบราณบนถนนทั้งสายได้รับการอนุรักษ์อย่างดีไม่มีตึกหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างใหม่เข้าไปแทรกเลย โรงเตี๊ยมและร้านค้าต่างๆ ที่เรียงรายเป็นแถวยาวบ่งบอกว่าในอดีตถนนบนสายนี้เคยเป็นเส้นทางสำคัญที่ผู้คนพากันสัญจรผ่านมาจากทั่วทุกสารทิศ ทุกวันนี้ก็ยังเนืองแน่นด้วยผู้คน หากแต่เป็นนักท่องเที่ยว ไม่ใช่พ่อค้าวาณิชดังแต่ก่อน

    คนนำทางตอนนี้ได้เปลี่ยนจากคุณโยโกตะมาเป็นคุณฟูจิ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มเพื่อนเอเชียที่เพิ่งตั้ง คุณฟูจิมีภรรยาเป็นคนพะเยา บ้านอยู่ในเมืองอูเอดะ อันเป็นเป้าหมายอันดับต่อไปของเรา แต่ว่าเจ้าภาพซึ่งจะให้ที่พักแก่เราทั้งวันนี้และวันต่อไปเป็นคุณเตกูชิ ซึ่งแต่งงานกับคนไทยเช่นกัน เธอเปิดร้านสแน็ค ผู้หญิงที่ทำงานในร้านนี้ก็พักบ้านของเธอ ทั้งเจ้าของบ้านและคนร่วมบ้าน แม้จะทำงานกลางคืนแต่ก็ตื่นแต่เช้ามาทำอาหารถวายพระทั้ง ๒ วัน อูเอดะจึงเป็นเมืองแรกที่มีคนไทยใส่บาตร ส่วนอาหารเพล ไปฉันที่ร้านรัตนามีคนไทยมาร่วมทำบุญคับคั่งเช่นเคย ร้านนี้เราเคยมาเจิมก่อนแล้ว อูเอดะเป็นเมืองหนึ่งที่เรามาเยือนบ่อยมากที่สุด รวมทั้งหมด ๓ ครั้ง (แต่ไม่นานก็กลายเป็น ๔ เพราะเราได้กลับไปเยือนเมืองนี้อีกครั้งไม่กี่วันก่อนกลับเมืองไทย)

    ได้มีโอกาสคุยกับคนไทยที่เป็นหญิงบริการ ส่วนใหญ่ส่งเงินกลับไปบ้านกันคนละมากๆ คนที่นี่ไม่ค่อยฝากเงินที่ธนาคาร เพราะมักส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ญาติพี่น้อง โดยผ่านบริการของร้านอาหารหรือร้านขายของของคนไทย เรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดแต่งงานกับคนญี่ปุ่นก็เพราะต้องการมีเงินส่งบ้าน นี้เป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากจะเลิกทำงานกลางคืน

    วันที่ ๔ มีคนมาร่วมเดินอีก ๒ คน คือคุณเดกูชิและคุณโนตะ ซึ่งเพิ่งเข้าพิธีแต่งงานกับคนไทยได้ไม่ถึงเดือน (เราได้รับนิมนต์อย่างกะทันหันให้ไปอวยพรแก่คู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงานซึ่งจัดพร้อมกับการเปิดตัวกลุ่มเพื่อนเอเชีย) แต่ว่า ๒ คนที่ร่วมเดินเมื่อวันก่อน รวมทั้งคุณคาวามูระได้กลับไปทำงาน จำนวนคนเลยเท่าเดิม วันนี้นับเป็นวันที่ทุกคนเพลิดเพลินกับการเดินมากที่สุดเพราะเดินเลียบแม่น้ำตลอดทาง นอกจากทัศนียภาพจะสวยงาม อากาศเย็นสบายแล้ว ยังได้เห็นชีวิตและกิจกรรมอันหลากหลายของผู้คนบนสองฝั่งแม่น้ำ มีทั้งปิคนิค ตกปลา เล่นกีฬา ขายอาหารและขี่จักรยานผาดโผน

    การเดินช่วยให้ชีวิตเร่งรีบน้อยลง มีเวลาพินิจสิ่งรอบตัวมากขึ้น ช่วงนี้ต้นไม้กำลังออกดอกสะพรั่งมีหลายชนิดที่ออกเต็มต้นทั้งๆที่ใบยังไม่ผลิ สีสันของดอกไม้จึงเบ่งบานออกมาชัดเจน เสน่ห์ของซากูระอยู่ที่ตรงนี้ บนภูเขาสองข้างทาง ต้นไม้หลายต้นจะส่งสีขาว เหลือง ชมพู ออกมาแซมกับสีเขียวของป่าผืนใหญ่ บ่งบอกถึงความหลากหลายซึ่งเป็นความงามอีกอย่างหนึ่งของธรรมชาติ

    วันนี้เราเดินมากเป็นพิเศษ เครื่องนับก้าวของท่านยูกิบอกว่าเฉพาะวันนี้เราเดินได้กว่า ๒๓,๐๐๐ ก้าวแต่ขณะเดียวกันเท้าของเราก็ชักจะออกอาการ รองเท้าแตะกลายเป็นปัญหา เลยเข้าเมืองหาซื้อรองเท้าใหม่ และถือโอกาสไปเที่ยวปราสาทอูเอดะไปด้วย ปราสาทญี่ปุ่นถึงจะแข็งแกร่งอย่างไร ก็ต้องประดับประดาด้วยต้นไม้และสวนอย่างสวยงามเสมอ

    จุดหมายของวันต่อมาอยู่ที่เมืองคามิยามาดะ อันเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในด้านออนเซนหรือบ่อน้ำร้อน คนไทยอยู่กันมากเช่นเคย ตอนที่ใกล้จะถึงเมืองนี้ มีรถคันหนึ่งแล่นมาทางเราครั้งมาใกล้ เด็กคนหนึ่งอายุไม่ถึง ๑๐ ขวบก็โผล่หัวออกมา แล้วตะโกนว่า “กัมบ๊ะเต๊ะ” แปลว่า “ขอให้พยายามต่อไป” ใครที่เคยดูหนังมดเอ๊กซ์คงได้ยินประโยคนี้บ่อยๆ แต่เด็กคนนั้นไม่ได้นึกว่าตัวเองเป็นมดเอ๊กซ์หรอก เขาเพียงแต่ต้องการให้กำลังใจ นี้เป็นความแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างไทยกับญี่ปุ่น คนไทยนิยมแสดงความปรารถนาดีด้วยการอวยพรให้ “โชคดี” แต่คนญี่ปุ่นจะขอให้ทำงานหนักขึ้น เข้าใจว่าเด็กคนนั้นคงรู้ว่าเรากำลังมาธุดงค์จึงให้กำลังใจเช่นนั้น

    ถ้าเป็นประเทศยุโรป หากมีใครโผล่หน้าออกมาจากรถ ก็เตรียมตัวทำใจได้ เพราะเขาคงจะสรรหาคำด่าเจ็บๆ แสบๆ มาประเคนเราแน่ ตอนที่ข้าพเจ้าไปจำพรรษาในอังกฤษ เจอแบบนี้หลายครั้ง แต่ที่นี่กลับตรงข้าม
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    52,250
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,073
    (ต่อ)
    วันนี้ฉันเพลที่ร้านไทยพัทยา เจ้าของคือคุณละอองดาว กำลังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่งในการพยายามหาเงินสร้างวัดไทยในญี่ปุ่น อันเป็นความคิดริเริ่มของวัดปากน้ำ แต่คงจะไม่ง่าย เงินนั้นไม่เป็นปัญหา ปัญหามาจากเรื่องอื่น ฟังมาว่าวัดปากน้ำพยายามสร้างวัดไทยแถวๆ นาริตะมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ

    คุณละอองดาวเป็นธุระจัดหาที่จำวัดให้ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากร้าน และอยู่ตรงย่านสแน็คคนไทย ตกค่ำได้ยินเสียงคนไทยเดินทักทายกันเป็นระยะราวกับอยู่เมืองไทย แต่ไม่มีเสียงเอ็ดตะโรโหวกเหวกเพราะที่นี่เป็นญี่ปุ่นมีคนไทยหลายคนมาคุยด้วย ความวิตกอย่างหนึ่งของคนไทยที่นี่ก็คือ กลัวว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะมากวาดจับครั้งใหญ่ใน ๒ ปีหน้า เพราะจังหวัดนากาโน่จะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว หลายคนรู้สึกว่ายังทำมาหากินได้ไม่เต็มที่เลย ที่จริงอยู่ญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุขนัก แต่เงินดี แม้ของจะแพง กระนั้นก็จัดว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับรายได้

    ตอนเช้ามีเสียงตะโกนชักชวนให้คนไทยมารอใส่บาตรที่ร้านไทยพัทยา แต่ว่าเราก็ทำกิจวัตรเดิมคือเดินบาตรไปเรื่อยๆ ไม่คำนึงว่าจะมีคนใส่บาตรกลางทางหรือไม่แล้วก็มาสุดที่ร้านไทยพัทยา มีคนรอใส่บาตรคับคั่ง จนถวายข้าวได้เพียงคนละช้อนสองช้อนเท่านั้น
    ฉันเสร็จก็ได้เวลาเดินต่อ แต่คราวนี้แทบจะไม่ต้องใช้แผนที่เลย เพราะมีทางเดินเลียบแม่น้ำตลอดไปจนถึงเมืองนากาโน่ เป็นทางเฉพาะคนกับรถจักรยานเท่านั้น กว้างเสียด้วย ส่วนทางรถนั้นเขาไปสร้างอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ ไหล่ถนนสูงจากพื้นพอๆ กันทั้งสองถนน เรียกได้ว่าทางคนเดินและรถจักรยานมีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าทางรถวิ่งเลย แสดงว่าเขาให้ความสำคัญกับคนและจักรยานมาก ถ้าเป็นเมืองไทย ทั้งคนทั้งจักรยานมีแต่จะถูกรถยนต์เบียดจนตัวลีบ

    วันนั้นฟ้าสวยแดดใส แต่กลับเป็นวันที่เดินลำบากมากทั้งๆ ที่ได้ถนนดี สาเหตุก็เพราะลมแรงเอามากๆ เป็นลมหนาวเสียด้วย ความร้อนของแดดไม่มีความหมายเลย ถูกลมตีเอาๆ จนต้องเร่งฝีเท้าและโถมตัวไปข้างหน้าเพื่อให้สู้กับแรงลมได้ บ่ายสองก็ถึงเมืองนากาโน่ แต่ตึกสูงก็ไม่ได้ช่วยลดแรงลมเลย แถมเราจะต้องเดินทำเวลาให้ได้มากที่สุด เพราะวันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้าย เรามีเวลาเดินเพียง ๒ ชั่วโมงเป็นอย่างมาก ขณะที่จุดหมายคือวันเซนโกจินั้นอยู่ห่างออกไปประมาณ ๑๕ กิโลเมตร
    บ่าย ๔ โมง เรามาหยุดอยู่ตรงเชิงสะพานที่จะเข้าสู่ใจกลางเมืองนากาโน่ ระหว่างทางมีคนไทยจอดรถหมายจะรับเราขึ้น เราก็ได้แต่นัดหมายให้ไปเจอกันที่ร้านอาหารตอนเพลวันรุ่งขึ้น ใกล้จะเลิก ก็มีคนญี่ปุ่นมาถามว่าเราเป็นพระไทยใช่ไหม ว่าแล้วก็ถวายขนมปัง ๑ ถุง
    เย็นวันนั้นพักที่วัดโฮเซนจิ เจ้าอาวาสเป็นสมาชิกขององค์กร Sotoshu Volunteer Association ซึ่งมีสาขาที่เมืองไทยด้วย คุณฮาตะ สามีครูประทีป อึ้งทรงธรรม ทำงานให้องค์กรนี้ที่สลัมคลองเตย แต่ตอนนี้ฟังว่าย้ายมาญี่ปุ่นแล้ว ลูกวัดเป็นพระหนุ่มเคยบวชกับหลวงพ่อนานอยู่เดือนหนึ่ง วัดนี้จึงคุ้นกับธรรมเนียมพระไทยอยู่บ้าง เสียดายแทนเพื่อนๆ หลายคนที่ไม่ได้มาเห็นวัดนี้ แม้เป็นวัดเล็กในชนบท แต่ก็สวยงามทั้งศิลปะและธรรมชาติ ตอนที่เรามาครั้งแรกคราวสำรวจเส้นทางอาทิตย์ก่อน ซากูระกำลังบาน ตอนนี้ร่วงแล้ว แต่ก็ยังงามอยู่นั่นเอง ภูเขาที่ประชิดวัดมีต้นไม้งามๆ หลายต้น ร่มรื่นดี
    คืนนั้นมีแขกมาเยี่ยมหลายคณะ ทั้งไทยและญี่ปุ่นเป็นโชคที่ได้พบคนไทยคนหนึ่งที่เคยอยู่อาศรมฯ และทำงาน Redd Barna ที่ขอนแก่น และรู้จักข้าพเจ้ากับพระยูกิดี เขาเลยนิมนต์ให้ไปจำวัดที่บ้านพักของเขาในคืนถัดไป

    ๗ พฤษภาคมเป็นวันสุดท้ายของการธุดงค์ วันนี้เดินสบายๆ เพราะเมื่อวานเดินได้ไกล รวมแล้ว ๓๒,๐๐๐ ก้าว เจ้าของร้านที่ถวายเพลเป็นคนลาวที่อพยพมาเกือบ ๒๐ ปีที่แล้ว แต่ภรรยาและคนในร้านทั้งหมดเป็นคนไทย
    พอก้าวออกจากร้าน โทรทัศน์ NBS ที่เคยมาทำข่าวตั้งแต่วันแรก ก็เริ่มติดตามถ่ายภาพ เพราะอีกกิโลเมตรเศษๆ เท่านั้นก็จะถึงวัดเซนโกจิ ยิ่งใกล้วัดคนก็ยิ่งเยอะ มีทั้งนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว แสดงว่าเป็นวัดสำคัญมาก พอไปเห็นแล้วก็ต้องทึ่ง ทั้งวัดทำด้วยไม้ ขนาดใหญ่มาก ว่ากันว่าเป็นวัดไม้ใหญ่อันดับ ๓ ของญี่ปุ่น (และของโลก) เสาแต่ละต้นขนาดมหึมา ทั้งตรงทั้งสูง ขื่อคาก็ไม่เบา แถมลายงามอีกต่างหาก ทางวัดให้เกียรติเรามาก จัดพระมาต้อนรับและแนะนำสถานที่ เราเลยกลายเป็นคนสำคัญไปเลย ต้องยกให้เป็นฝีมือของหมออิโรฮิร่า ซึ่งเป็นผู้ประสานงานการธุดงค์คนหนึ่ง

    วัดนี้แปลก พระประธานจะอยู่หลังม่าน เฉพาะโอกาสสำคัญจึงจะเปิดม่านให้คนเห็น เราโชคดีที่เขาเปิดม่านวันนี้พอดี แต่ไม่รู้ว่าตาไม่ดีหรือบุญไม่มีกันแน่ จึงมองไม่เห็น พระพุทธรูปอาจจะเล็กก็ได้ ธรรมเนียมนี้มีมานานับพันปีแล้ว วัดนี้มีสิ่งลี้ลับหลายอย่าง พระที่นำชมสถานที่บอกว่า ตัวท่านเองก็ยังไม่มีโอกาสได้เห็นอีกหลายอย่างของที่นี่

    ที่พิเศษและลึกลับอีกอย่างก็คือ ห้องใต้พระประธานซึ่งมืดสนิท คนทั่วไปมีสิทธิเพียงเดินคลำไปตามผนังเท่านั้น ถ้าโชคดีก็จะได้จับคลำกุญแจขนาดใหญ่ซึ่งปิดห้องสำคัญเอาไว้ ว่ากันว่าใครได้คลำ ก็จะได้สิ่งที่อธิษฐานสมใจ ห้องนี้มีคนลงไปมิได้ขาด ข้าพเจ้าก็ลงไปด้วยและคลำกุญแจด้วย แต่ก็ไม่ได้อธิษฐานอะไร ธุดงค์มาถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่ล้มป่วยเจ็บไข้ก็พอใจแล้ว

    เป็นอันว่าธุดงค์ครั้งนี้สำเร็จเสร็จสิ้นด้วยดี ได้เยี่ยมเยียนคนไทย และพบปะหลายคนที่น่าสนใจ กับได้ฝึกฝนตนเองเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังได้มิตรเพิ่มขึ้นอีกหลายคน มีความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นตลอดการธุดงค์ โดยเฉพาะความซาบซึ้งประทับใจในไมตรีของคนญี่ปุ่นตามเส้นทาง รวมทั้งเพื่อนชาวญี่ปุ่นอีกหลายคนที่เสียสละเวลาอันมีค่า ในช่วงวันหยุดมาช่วยนำทางและร่วมเดินเป็นเพื่อนกับเราทั้งๆที่พูดกันแทบไม่รู้เรื่อง แต่สายตาและรอยยิ้มก็ประสานเราให้เข้าถึงใจของกันได้

    :- https://visalo.org/article/Seki253907.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...