บทความให้กำลังใจ(อย่าร้องไห้เมื่ออาทิตย์ลับฟ้า)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,547
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,070
    สุขภาพกับมิติทางสังคมและจิตใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    สุขภาพของบุคคลแม้กระทั่งในทางกายนั้น ผูกพันแนบแน่นกับสุขภาวะทางใจและทางสังคม จิตใจที่แช่มชื่น เป็นสุข ไม่เครียด ความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ไม่ร้าวฉาน เป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพของบุคคล หากมีปัญหาทางจิตใจและความสัมพันธ์ทางสังคมแล้ว บุคคลก็สามารถล้มป่วยได้ โดยที่การล้มป่วย (illness)นั้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับโรค (disease) เลย ด้วยเหตุนี้ การปลอดโรคจึงไม่ใช่หลักประกันแห่งสุขภาพอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้ไม่เป็นโรค แต่ก็อาจล้มป่วยได้ด้วยสาเหตุทางจิตใจและความสัมพันธ์ทางสังคม ทัศนะที่ว่า สุขภาพหมายถึงการปลอดโรค จึงไม่ครอบคลุมเพียงพอ นอกจากจะเน้นเฉพาะมิติทางกายภาพแล้ว ยังเป็นการมองสุขภาพในเชิงลบ เพราะสุขภาพที่แท้จริงเกิดจากสภาวะที่เป็นบวกทั้งในทางกาย ใจ และสังคม คือร่างกายแข็งแรง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดี ใจเป็นสุข แช่มชื่น รู้จักมองในแง่บวก ส่วนความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็เป็นไปอย่างราบรื่น กลมเกลียวกัน

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อล้มป่วย สิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการรักษาก็คือการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง เช่น การกินที่ถูกสุขลักษณะและสมดุล ห่างไกลจากยาเสพติดและสารพิษ การนอนและพักผ่อนอย่างพอเพียง รวมทั้งการอยู่ในสถานที่เอื้อต่อสุขภาพ มีอากาศและน้ำสะอาด ไม่อุดอู้ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อการฟื้นฟูและรักษาร่างกาทั้งระบบให้เป็นไปด้วยดี

    แต่การรักษาทางกายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาแบบองค์รวมเท่านั้น สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกันคือการเยียวยารักษาทางใจและทางสังคม ความเครียด วิตกกังวล ความเศร้าโศก ผิดหวัง ท้อแต้ การคิดเอาแต่ได้ ไม่ยอมปล่อยวาง มีผลบั่นทอนสุขภาพเช่นเดียวกับความเหงา ว้าเหว่ หรือความร้าวฉานกับผู้อื่น

    การวิจัยตลอด ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาได้ชี้ว่า มีหลายโรคที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและความสัมพันธ์กับผู้คน ที่ชัดเจนได้แก่โรคหัวใจ คนที่มักโกรธ เครียดจัด มุ่งมั่นเอาชนะ ไม่ยอมแพ้ มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนที่มีจิตใจผ่อนคลาย เมื่อปี ๒๕๓๘ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการศึกษาคนไข้โรคหัวใจขาดเลือดจำนวนกว่า ๑,๖๐๐ คน พบว่าคนที่ไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ มีอัตราการกำเริบของโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าถึง ๒ เท่าเมื่อเทียบกับคนที่มีอารมณ์สงบและสามารถควบคุมตนเองได้ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบว่าการจัดการกับความเครียดที่ไม่เหมาะสมเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการตายมากกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก
    ป่วยเพราะโกรธ
    หญิงสาวคนหนึ่งมีอาการปวดท้องและปวดหัวเรื้อรัง ทั้งยังมีความดันโลหิตสูงด้วย ไปหาหมอครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่มีอาการดีขึ้น น่าแปลกก็คือหมอหาสาเหตุของโรคไม่พบ ร่างกายของเธอเป็นปกติทุกอย่าง สุดท้ายหมอก็ถามเธอว่า “ชีวิตของคุณเป็นอย่างไรบ้าง เล่าให้ผมฟังหน่อยสิ”

    แล้วหญิงผู้นั้นก็เล่าชีวิตของเธอให้ฟัง หมอสะดุดใจเมื่อเธอเล่าว่ามีเรื่องบาดหมางกับพี่สาวสองคน เพราะทั้งสองทิ้งเธอให้ต่อสู้กับปัญหาตามลำพังเมื่อหลายปีก่อน
    หมอสงสัยว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นต้นเหตุให้เธอเจ็บป่วยเรื้อรัง คำแนะนำของหมอก็คือ เธอควรยกโทษให้พี่สาวทั้งสอง
    หญิงสาวคงนึกไม่ถึงว่าจะได้รับคำแนะนำเช่นนี้จากหมอ แต่หลายปีต่อมาหมอก็ได้รับจดหมายจากคนไข้คนนี้ว่า เธอคืนดีกับพี่สาวแล้ว และอาการเจ็บป่วยเรื้อรังก็หายเป็นปลิดทิ้ง
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,547
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,070
    (ต่อ)
    ความขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ใช่เป็นแค่อารมณ์ที่มาแล้วก็ผ่านไปดังสายลม บ่อยครั้งมันถูกเก็บสะสมและหมักหมมจนไม่เพียงทำให้ร้าวรานใจเท่านั้น หากยังบั่นทอนร่างกายจนเจ็บป่วยเรื้อรังดังหญิงสาวผู้นี้

    อารมณ์ที่หมักหมมเรื้อรังนั้นมีพิษต่อจิตใจและร่างกายอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง เราจำเป็นต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ไม่ให้หมักหมมเรื้อรัง สำหรับอารมณ์ขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ คงไม่มีวิธีการใดดีกว่าการให้อภัย ดังที่หญิงสาวผู้นี้ได้ค้นพบด้วยตัวเอง

    จิตผ่อนคลาย กายฟื้นฟู

    ในขณะที่ความเครียดและความวิตกกังวลมีผลในการก่อโรค ความรู้สึกผ่อนคลาย แช่มชื่นเบาสบาย ไร้วิตกกังวล ก็ย่อมช่วยให้สุขภาพดีขึ้น หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้เร็วขึ้น หรือมีอายุยืน มีการวิจัยเป็นอันมากที่ยืนยันเรื่องนี้ เมื่อปี ๒๕๔๐ ได้มีการศึกษาผู้มีอายุระหว่าง ๕๕-๘๕ ปีจำนวนกว่า ๒,๘๐๐ คนในอเมริกา พบว่าคนที่รู้สึกว่าควบคุมชีวิตตนได้มีอัตราการตายน้อยกว่าคนที่รู้สึกท้อแท้กับชีวิตถึงร้อยละ ๖๐ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มองโลกในแง่ดีหรือสามารถจัดการกับความโกรธได้ดีมีแนวโน้มที่จะอยู่ยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่มีความเครียดหรือเก็บกดความโกรธเอาไว้

    นอกจากจิตใจที่สงบ ผ่อนคลายแล้ว ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็มีผลต่อสุขภาพมาก เคยมีการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ทั้ง ๒ กลุ่มได้รับการศึกษาตามมาตรฐานการแพทย์แผนใหม่ทุกประการ แต่กลุ่มที่หนึ่งนั้นมีการพบปะพูดคุยกันระหว่างคนไข้ และช่วยเหลือกันตามโอกาส โดยทำเช่นนี้สม่ำเสมอสัปดาห์ละ ๙๐ นาที ต่อเนื่องนาน ๑ ปี อีกกลุ่มไม่มีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม ปรากฏว่าอัตราการอยู่รอดของกลุ่มแรกมากเป็น ๒ เท่าของกลุ่มที่สอง และยังพบอีกว่าในกลุ่มที่สองนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ๕ ปี ไม่มีผู้ป่วยคนใดมีชีวิตรอดเลย

    มิตรภาพสร้างสุขภาพ

    ชายผู้หนึ่งถูกโรคหัวใจคุกคาม ตอนนั้นเขากำลังทำเรื่องขอหย่าจากภรรยาอยู่พอดี หลังจากแยกทางกันเขาก็อยู่คนเดียว แทบจะเก็บตัวก็ว่าได้ เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อสู้กับโรคหัวใจ เช่นคุมอาหาร เลิกบุหรี่ และออกกำลังกายมากขึ้น แต่เมื่อได้อ่านงานวิจัยล่าสุดก็พบว่าเพียงเท่านั้นยังไม่พอ คนที่ซึมเศร้าและเปล่าเปลี่ยวอ้างว้างอย่างเขามีโอกาสตายภายใน๖เดือนได้มากกว่าคนทั่วไปถึง ๔ เท่า

    ดังนั้นเขาจึงเริ่มพบปะผู้คนมากขึ้น ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งช่วยงานอาสาสมัครมากขึ้น ปรากฏว่าสุขภาพของเขาดีขึ้นเป็นลำดับ ไม่ใช่แค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่รวมถึงสุขภาพใจด้วย การเปิดใจเข้าหาผู้คนและช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่นทำให้เขามีความสุขยิ่งกว่าก่อนเป็นโรคหัวใจเสียอีก
    เปิดปากเปิดใจ

    การมีสัมพันธภาพกับผู้คนนั้น แม้จะนำความสุขมาให้ แต่บ่อยครั้งก็อาจก่อให้เกิดความเครียดได้หากวางใจไม่ถูกต้อง ดังจะพบว่าปัญหาความกินแหนงแคลงใจและความร้าวฉานมักเกิดจากความเข้าใจผิด และความเข้าใจผิดมีจุดเริ่มต้นจากการด่วนสรุปและไม่สืบสาวหาความจริง ทั้ง ๆ ที่เพียงแค่เปิดปากซักถาม ความจริงก็ปรากฏ

    ไม่ว่าในครอบครัว หรือที่ทำงาน การรู้จักเปิดปากซักถามเป็นวิธีป้องกันความเข้าใจผิด และสกัดกั้นมิให้เกิดอารมณ์อกุศลได้เป็นอย่างดี แต่เท่านั้นคงไม่พอ นอกจากการเปิดปากซักถามแล้ว บางครั้งมีความจำเป็นที่ต้องมีการเปิดปากเล่าความในใจด้วย สาเหตุที่ความไม่พอใจสะสมมากขึ้นเพราะเราไม่กล้าเล่าความในใจให้อีกฝ่ายรับรู้ ว่ารู้สึกข้องขัดอย่างไรบ้าง การปิดปากเงียบ ทำให้อารมณ์คุกรุ่นจนอาจระเบิดออกมา และก่อความเสียหายอย่างคาดไม่ถึง

    ในการอยู่ร่วมกัน เราควรส่งเสริมซึ่งกันและกันให้พร้อมที่จะเปิดปากซักถามเมื่อมีความสงสัยไม่แน่ใจ หรือเปิดปากเล่าความในใจเมื่อมีความขุ่นข้องหมองใจกันขึ้นมา แต่จะทำเช่นนั้นได้ทุกฝ่ายต้องพร้อมเปิดใจรับฟังสิ่งที่อาจไม่ถูกใจ หรือไม่ตรงกับความคิดของตน การเปิดใจรับฟังอย่างมีสติ และความเห็นอกเห็นใจ จะช่วยให้ผู้คนพร้อมเปิดปากซักถามและเล่าความในใจได้อย่างเต็มที่ แล้วเราอาจพบว่าปัญหานั้นแก้ได้ไม่ยากเลย ใช่หรือไม่ว่าปัญหาเล็ก ๆ ลุกลามจนเป็นเรื่องใหญ่ได้ก็เพราะการไม่เปิดปากเปิดใจให้แก่กันและกัน

    การเปิดปากเปิดใจไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใส่อารมณ์เข้าหากัน หากทุกฝ่ายมีสติรักษาใจ หรือแม้นว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีสติ แต่ถ้าคนหนึ่งมีสติ ตั้งอยู่ในความนิ่งสงบ ก็สามารถช่วยลดทอนอารมณ์ของผู้อื่นได้ ขอให้คน ๆ นั้นเริ่มต้นที่ตัวเรา ที่เหลือก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญอีกต่อไป
    :- https://visalo.org/article/healthsukapabkabMiti.htm

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,547
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,070
    เป็นสุขท่ามกลางความทุกข์
    พระไพศาล วิสาโล
    คนเรามักอยู่ด้วยความรู้สึก คือปล่อยให้ความชอบ-ไม่ชอบมาเป็นตัวกำหนดชีวิตของตน โดยที่ความชอบ-ไม่ชอบนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ามันให้ความสุขและสะดวกสบายแก่ตนหรือไม่ อะไรก็ตามที่ให้ความสะดวกสบายหรือความสุขแก่ตน ก็อยากได้อยากหามาครอบครอง ส่วนมันจะเป็นประโยชน์หรือเป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่ ไม่สนใจ ในทางตรงข้าม อะไรก็ตามที่ทำให้ตนสะดวกสบายน้อยลงหรือเกิดความยากลำบาก ก็อยากผลักไสออกไป ไม่อยากเกี่ยวข้องด้วย แม้มันจะมีประโยชน์ก็ตาม เด็กจึงเลือกเที่ยวเล่นมากกว่านั่งทำการบ้าน ส่วนผู้ใหญ่ก็ชอบสุมหัวคุยกันหรือดูหนังฟังเพลงมากกว่าจะทำงานอย่างตั้งใจ

    การปล่อยให้ความรู้สึกมาครอบงำชีวิตของตน แท้จริงก็คือการปล่อยให้อัตตามาครองใจ เพราะอัตตาไม่ได้สนใจอะไรนอกจากสิ่งที่จะตอบสนองความอยากได้ใคร่เด่นที่ไม่เคยพอเสียที เจออะไรที่ไม่ถูกใจจึงโกรธแม้จะเป็นเรื่องธรรมดาหรือมีประโยชน์ก็ตาม ดังนั้นแค่เจอไฟแดง รถติด ฝนตก เพื่อนร่วมงานไม่ทักทาย พ่อแม่แนะนำตักเตือน อัตตาก็ขุ่นเคืองใจแล้ว ถ้าเราปล่อยให้มันครองใจ เราก็ต้องทุกข์ไม่หยุดหย่อน เพราะชีวิตนี้ทั้งชีวิตเราย่อมต้องเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจเราอยู่เสมอ ถึงแม้จะร่ำรวย ยิ่งใหญ่ หรือมีอำนาจมากมายเพียงใด เราก็ไม่สามารถบัญชาหรือควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจเราได้ตลอดเวลา


    ความจริงที่ทุกชีวิตหลีกหนีไม่พ้นก็คือ ต้องประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา และพลัดพรากจากสิ่งพึงปรารถนา อยู่เป็นนิจ รวยแค่ไหนก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย เก่งแค่ไหนก็ต้องมีวันประสบความล้มเหลว ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ต้องพลัดพรากจากคนรักไม่ช้าก็เร็ว คนที่ปล่อยให้ชีวิตจิตใจเป็นไปตามความรู้สึก ย่อมหาความสุขได้ยาก

    แต่คนเราไม่จำเป็นต้องทุกข์ไปตามเหตุการณ์ที่มากระทบเสมอไป หากเราเป็นอยู่ด้วยปัญญา ไม่เอาความรู้สึกเป็นใหญ่ มีสติรู้เท่าทันอัตตา ไม่ปล่อยให้มันครองใจ เราก็สามารถทำใจให้เป็นปกติได้แม้ในยามที่ประสบกับสิ่งที่เป็นลบในสายตาของคนทั่วไป เช่น เมื่อถูกตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ หากเราปล่อยให้อัตตาเป็นใหญ่ในใจ เราก็จะรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า “กูถูกเล่นงาน” หรือ “กูเสียหน้า” ผลคือเกิดความโกรธและตอบโต้กลับไป ซึ่งอาจทำให้ถูกวิจารณ์กลับมาหนักขึ้น ในทางตรงข้าม หากเรามีสติทันท่วงทีและสามารถดึงปัญญาออกหน้า เราก็จะหันมาใคร่ครวญว่าสิ่งที่เขาพูดมานั้นเป็นความจริงหรือไม่ มีประโยชน์เพียงใด มันอาจช่วยให้เราเห็นข้อบกพร่องของตัวเองชัดขึ้น หรือไม่ก็เผยให้เห็นตัวตนของผู้พูด ทำให้เรารู้จักเขามากขึ้น ผลคือนอกจากเราจะฉลาดมากขึ้นแล้ว จิตใจยังไม่ร้อนรุ่มหรือทุกข์เพราะคำวิจารณ์นั้น

    หากเราดำเนินชีวิต ทำกิจวัตรประจำวัน และทำงานด้วยความใส่ใจ โดยไม่มุ่งหวังเพียงแค่ทำงานให้เสร็จหรือให้ดีเท่านั้น หากยังถือว่าเป็นการฝึกฝนจิตใจหรือขัดเกลาตนเองไปด้วย เช่น ฝึกให้มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ ลดละความเห็นแก่ตัว บ่มเพาะเมตตากรุณา ก็จะเป็นการเปิดทางให้ปัญญาเข้ามาแทนที่อัตตา นั่นหมายความว่าเมื่อประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา หรือพลัดพรากจากสิ่งพึงปรารถนา เราก็สามารถรับมือกับมันได้โดยไม่ทุกข์

    ดังได้กล่าวแล้วว่าเราไม่สามารถควบคุมหรือจัดการให้เกิดสิ่งดี ๆ กับเราได้ตลอดเวลา แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดสิ่งแย่ ๆ กับเรา เราสามารถเลือกได้ว่าจะยอมให้มันมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของเราได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งเลือกว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับมันได้ด้วย เช่น จะใช้มันให้เกิดประโยชน์แก่เราอย่างไร แต่ทั้งหมดนี้เราจะเลือกได้ก็ต่อเมื่อมีสติและปัญญา ซึ่งเกิดจากการสะสมในชีวิตประจำวันและการฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

    ขอให้สังเกตว่าเมื่อมีสิ่งแย่ ๆ (หรือสิ่งที่เราไม่ชอบ)เกิดขึ้นกับเรา สิ่งนั้นไม่ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับใจของเราเองที่วางไว้ไม่ถูก ทันทีที่ได้รับการบอกเล่าจากหมอว่าเป็นมะเร็ง หลายคนถึงกับล้มทรุด หมดเรี่ยวแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นมะเร็งแค่ขั้นที่ ๑ หลายคนทำงานด้วยความทุกข์ ไม่ใช่เพราะว่างานที่ได้รับนั้นเป็นงานยาก แต่เป็นเพราะเขาไม่อยากทำงานชิ้นนั้น หรือเพราะไม่พอใจที่เจ้านายเอางานของคนอื่นมาให้เขาทำ ฯลฯ บางคนก็ทุกข์เพราะเพื่อน ๆ ทิ้งงานให้เขาทำคนเดียว ใจที่เอาแต่บ่นว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน ?” “ไม่เป็นธรรม ๆ ๆ ๆ” ทำให้เขาทำงานด้วยความทุกข์ทรมานราวกับตกนรกทั้ง ๆ ที่อยู่ในห้องแอร์

     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,547
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,070
    (ต่อ)

    ตอนหนึ่งของรายการ “พลเมืองเด็ก” ที่ออกอากาศช่องทีวีไทย เด็ก ๓ คนได้รับมอบหมายให้ขนของขึ้นรถไฟ บังเอิญตอนนั้นมีการถ่ายทอดสดการชกของสมจิตร จงจอหอ นักชกเหรียญทองโอลิมปิก เด็กชาย ๒ คนจึงทิ้งงานไปดูโทรทัศน์ข้างสถานีรถไฟ พิธีกรจึงถามเด็กหญิงซึ่งตั้งหน้าตั้งตาขนของอยู่คนเดียวว่า เธอคิดอย่างไรที่เพื่อนทิ้งงาน เธอตอบว่าไม่เป็นไร เห็นใจทั้งสองคนเพราะนาน ๆ จะได้ดูสมจิตรชกมวย พิธีกรถามต่อว่า เธอไม่โกรธหรือไม่คิดไปด่าว่าเพื่อนหรือที่ปล่อยให้เธอทำงานอยู่คนเดียว เธอตอบว่า “หนูขนของขึ้นรถไฟ หนูก็เหนื่อยอย่างเดียว แต่ถ้าหนูโกรธหรือไปด่าว่าเขาหนูก็เหนื่อยสองอย่าง”


    คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเหนื่อยสองอย่าง คือเหนื่อยกายด้วย เหนื่อยใจด้วย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไม่รู้ทันอารมณ์ความรู้สึกของตัว ปล่อยให้ความโกรธหรือหงุดหงิดทำร้ายจิตใจของตน จึงทำงานอย่างไม่มีความสุข จริงอยู่การทิ้งงานให้เราทำคนเดียวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่หากใจเรายึดติดกับ “ความถูกต้อง” หรือ “ความน่าจะเป็น” โดยไม่รู้จักวางเลย ความยึดติดนั้นเองจะกลับมาบั่นทอนทำร้ายจิตใจของเรา เขาไม่ควรทิ้งงานให้เราทำก็จริง แต่นั่นก็ไม่ควรเป็นเหตุผลที่เราจะต้องหันมาซ้ำเติมตัวเอง เหนื่อยใจนั้นไม่มีใครทำให้เราได้ นอกจากเราเอง

    เหตุการณ์แย่ ๆ นั้นทำอะไรเราไม่ได้หากเราไม่ปล่อยให้มันเข้ามาเล่นงานเราถึงจิตถึงใจ แม้แต่ความเจ็บป่วย ก็ทำให้กายทุกข์เท่านั้น แต่ทำใจให้ทุกข์ไม่ได้ เว้นเสียแต่เราจะยอมปล่อยให้ใจทุกข์ไปกับกายด้วย อันที่จริงนอกจากเราเลือกได้ว่าจะปล่อยให้มันมามีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจเราแค่ไหนแล้ว เรายังเลือกว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับมันได้ด้วย เช่น เมื่อเจ็บป่วยเราเลือกได้ว่าจะดูแลรักษาตัวอย่างไรดี แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เรายังทำได้มากกว่านั้น เช่น ใช้มันให้เป็นประโยชน์ หรือหาประโยชน์จากมัน

    บางคนพบว่าเจ็บป่วยก็ดีเหมือนกัน เพราะจะได้พักจากการทำงานที่หนักอึ้ง ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว นอนอ่านหนังสือที่ชอบ หรือหันมาทำสมาธิภาวนา หลายคนถึงกับอุทานว่า “โชคดีที่เป็นมะเร็ง” เพราะมะเร็งทำให้เขาค้นพบความสุขที่แท้อันได้แก่ความสงบทางใจ ผลก็คือชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

    หากเรามีสติและปัญญา ไม่มัวปล่อยใจจ่อมจมอยู่กับความทุกข์ หรือเอาแต่บ่นว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน” เราจะพบว่าเหตุการณ์แย่ ๆ ที่ไม่พึงปรารถนานั้นมีข้อดีอยู่เสมอ บางคนพบว่าการตกงานทำให้เขามีเวลาอยู่กับพ่อแม่และทดแทนพระคุณท่านได้มากขึ้น ธุรกิจที่ล้มละลายผลักดันให้หลายคนเข้าวัดและค้นพบจุดหมายที่แท้ของชีวิต อกหักหรือแยกทางจากคนรักก็ช่วยให้หลายคนพบกับชีวิตที่อิสระและเป็นตัวของตัวเอง

    นอกจากประโยชน์ในเชิงรูปธรรมแล้ว เหตุการณ์แย่ ๆ ทั้งหลายยังมีข้อดีอย่างน้อย ๒ ประการ ได้แก่

    ๑. สอนใจเรา กล่าวคือสอนให้เราตระหนักถึงความจริงของชีวิตซึ่งมีความผันผวนปรวนแปรเป็นนิจ เช่น ของหายก็สอนใจเราว่าความพลัดพรากจากของรักเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราหรือเป็นของเราได้อย่างยั่งยืน การถูกตำหนิก็สอนใจเราว่า สรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน ไม่มีใครที่จะได้รับการสรรเสริญอย่างเดียว ไม่ว่าดีแค่ไหนก็ยังถูกนินทา

    ๒. ฝึกใจเรา เช่น ฝึกใจให้ไม่ประมาท ระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้เหตุร้ายเกิดขึ้นอีก หรือฝึกใจให้ปล่อยวางเพื่อรับมือกับเหตุร้ายที่แรงกว่าในอนาคต (ถ้าโทรศัพท์หายยังปล่อยวางไม่ได้ แล้วจะทำใจได้อย่างไรเมื่อต้องสูญเสียคนรัก เช่น พ่อแม่ ลูกเมีย ซึ่งต้องเกิดขึ้นแน่) หรือฝึกใจให้มั่นคงเข้มแข็ง เพราะเราจะต้องเจออะไรต่ออะไรอีกมากมายในวันข้างหน้า อีกทั้งยังฝึกให้เราฉลาดและมีประสบการณ์มากขึ้น (อย่าลืมว่าคนเราเรียนรู้จากความล้มเหลวได้มากกว่าความสำเร็จ)

    ความฉลาดในการรับมือกับเหตุการณ์แย่ ๆ นั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้จากห้องเรียนหรือจากตำรา แต่เกิดได้เพราะเรียนรู้จากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันและจากการทำงาน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไม่ว่าดีหรือร้าย บวกหรือลบ หากไม่ปล่อยใจไปตามอารมณ์ความรู้สึก คือชอบหรือไม่ชอบ เพลิดเพลินยินดีหรือคร่ำครวญโกรธแค้น แต่มีสติรู้ทันอารมณ์ความรู้สึก และหันมาใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยปัญญา ประโยชน์ย่อมเกิดขึ้นแก่เราเสมอ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เห็นช่องทางที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์ สามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี หรือเปลี่ยนเคราะห์ให้กลายเป็นโชคได้

    ถ้าทำเช่นนั้นได้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา แม้จะเลวร้ายเพียงใด จะมิใช่สิ่งที่ยัดเยียดความทุกข์หรือความปราชัยให้แก่เรา แต่จะกลายเป็นสิ่งที่ฝึกฝนจิตใจเราให้มีสติ ปัญญา และลดละอัตตา ช่วยให้เรามีชีวิตที่โปร่งเบา สงบเย็น และเป็นอิสระจากสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบได้เป็นลำดับ จนในที่สุดก็สามารถอยู่เหนือความทุกข์หรือความผันผวนปรวนแปรทั้งปวงได้ นี้คือสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยของเราทุกคน และควรเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตเราด้วย
    :- https://visalo.org/article/suksala08.htm
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,547
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,070
    ยิ่งผลักไส ใจยิ่งทุกข์
    พระไพศาล วิสาโล
    ในสมัยพุทธกาลมีผู้หญิงคนหนึ่ง คือ นางกีสาโคตมี เป็นผู้หญิงที่ฉลาดมากและใฝ่ธรรม แต่วันหนึ่งลูกของนางซึ่งกำลังอยู่ในวัยน่ารักได้ตายลง เธอยอมรับไม่ได้ ยังเชื่อว่าลูกสามารถฟื้นขึ้นมาได้ จึงไปขอร้องใครต่อใครให้มาช่วยรักษาลูกให้ฟื้น ทุกคนก็บอกว่าลูกเธอตายแล้ว แต่เธอก็ไม่ยอมรับความจริง ใจหนึ่งก็ทุกข์ทรมานมาก ใจหนึ่งก็มีความหวัง พอมีคนแนะนำให้ไปหาพระพุทธเจ้า เธอก็รีบไปเฝ้าพระองค์ทันที พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่า คนที่ปฏิเสธความจริงแบบนี้ สอนธรรมะอย่างไรก็ไม่ได้ผล เพราะใจไม่เปิดรับ ดังนั้นแทนที่พระองค์จะสอนให้เธอเห็นว่าความตายเป็นธรรมดาของชีวิต เกิดมาแล้วก็ต้องตายทุกคนไม่ช้าก็เร็ว พระองค์กลับบอกนางว่าพระองค์สามารถช่วยให้ลูกเธอฟื้นขึ้นมาได้หากเธอไปเอาเม็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตายมาให้

    นางดีใจมาก รีบเข้าไปในหมู่บ้าน ไปบ้านนั้นบ้านนี้ ทุกบ้านมีเม็ดผักกาดทั้งนั้น แต่ทุกบ้านก็มีคนตาย เพราะสมัยก่อนคนตายที่บ้าน บ้านนี้ลูกตาย บ้านนี้ผัวตาย บ้านนี้พ่อตาย บ้านนี้แม่ตาย ทุกบ้านมีคนตายทั้งนั้น เธอพบว่าไม่ใช่เธอเท่านั้นที่สูญเสีย คนอื่นก็สูญเสียคนรักเหมือนกัน ในที่สุดเธอก็ยอมรับความจริงได้ว่าลูกเธอตายแล้ว จึงเอาลูกไปเผา จากนั้นก็กลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า คราวนี้พระองค์จึงแสดงธรรมเพราะว่านางเริ่มเปิดใจแล้ว พระองค์ตรัสว่า “มฤตยูย่อมพาชีวิตของผู้ที่ยึดติดมัวเมาในบุตรและทรัพย์สินไป ดุจเดียวกับกระแสน้ำหลากมาพัดพาเอาชีวิตของผู้นอนหลับไหลไป ฉะนั้นแล” ตรัสเพียงเท่านี้นางก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

    นี่เป็นตัวอย่างของคนที่ทุกข์เพราะใจไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ความตายของลูกไม่ได้หนักหนาร้ายแรงเท่ากับใจที่ไม่ยอมรับ แต่พอยอมรับได้ ปรากฏว่าจิตใจก็เปิดรับธรรมะจนกลายเป็นพระอริยะเจ้าได้ สาเหตุหนึ่งที่ยอมรับได้ก็เพราะเห็นว่าทุกคนก็มีความทุกข์เหมือนกัน สูญเสียคนรักเหมือนกัน จึงยอมรับความเจ็บป่วยของตัวเองได้

    เวลาที่เราเจอเหตุร้าย ไม่ว่ากับร่างกายของเรา กับทรัพย์สินเงินทองของเรา กับการงานของเรา กับคนที่เรารัก หรือกับความสัมพันธ์ของเรา ให้ตั้งสติให้ดี ให้ระลึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นปัญหามากเท่ากับใจของเรา ว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร ถ้าเราปฏิเสธ ไม่ยอมรับ มันจะทำให้เราทุกข์ยิ่งกว่าเดิม หรือหนักกว่าทุกข์ที่เกิดจากเหตุร้ายนั้นเสียอีก ดังนั้น ขอให้ตั้งหลักให้ดีแล้วทำใจยอมรับมันให้ได้ ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกตัวเราเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในใจเราก็เหมือนกัน

    เวลาเราทำสมาธิภาวนา หรือปฏิบัติธรรม บางครั้งก็มีความฟุ้งซ่าน บางครั้งก็มีความหงุดหงิด บางครั้งก็มีความเครียด มีความไม่สงบเกิดขึ้น นั่นไม่ใช่ปัญหาเท่าไร กลับจะเป็นของดีด้วยซ้ำ เพราะสามารถเอามาเป็นการบ้านให้จิตได้พิจารณา เพราะอารมณ์เหล่านี้สอนธรรมะได้เหมือนกัน แต่ถ้าใจไม่ยอมรับเมื่อมีอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น ก็จะทุกข์ทันที ทุกข์เพราะฟุ้งซ่าน ทุกข์เพราะหงุดหงิด ทุกข์เพราะใจไม่สงบ

    นักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยแปลกใจว่าทำไมตนมีความทุกข์มากกว่าตอนก่อนปฏิบัติธรรมเสียอีก ไม่ใช่เพราะว่าพอมาปฏิบัติธรรมแล้วจิตฟุ้งกว่าปกติ นั่นก็อาจจะมีส่วน แต่สาเหตุสำคัญเป็นเพราะมีความคาดหวังว่าเมื่อมาปฏิบัติธรรมแล้วใจต้องสงบ คนทั่วไปเขาไม่มีความคาดหวังแบบนั้นเพราะเขาไม่สนใจ แต่พอมาปฏิบัติธรรมแล้วก็จะมีความคาดหวังว่าใจต้องสงบ พอมีความฟุ้งซ่าน มีความเครียดเกิดขึ้น ใจก็ไม่ยอมรับเพราะว่ามันไม่ตรงกับความคาดหวัง ยิ่งคาดหวังมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นทุกข์เมื่อมีสิ่งรบกวนจิตใจ บางคนทุกข์มากถึงกับเจ็บกับป่วยก็มี บางคนทำแล้วรู้สึกแน่นหน้าอก ปวดหัว เหล่านี้เป็นอาการของคนที่ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของตัว พยายามบังคับควบคุมจิตให้สงบ พยายามบังคับควบคุมจิตให้นิ่ง พยายามผลักไสความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น เป็นการต่อต้านที่สวนทางกับความเป็นจริง เหมือนกับคนที่ขวางน้ำเชี่ยวย่อมถูกกระแสน้ำพัดพาไป

    แต่ถ้าเราเริ่มต้นจากการยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น อะไรเกิดขึ้นก็ไม่ผลักไส วางใจเป็นกลางกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ก็จะไม่เป็นทุกข์ คำว่า “ยอมรับ” กับคำว่า “วางใจเป็นกลาง” ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีความหมายเหมือนกัน เมื่อฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน รู้เฉย ๆ ไม่ต้องไปทำอะไร แต่ส่วนใหญ่ไม่ยอมรู้เฉย ๆ เพราะว่ามีความอยาก อยากให้จิตสงบ พอความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นก็เลยไม่ชอบ เกลียดความฟุ้งซ่าน จึงพยายามกดข่มผลักไสมัน ก็ยิ่งเป็นทุกข์เมื่อมันไม่ยอมไป ที่จริงแล้วยิ่งกดข่ม ยิ่งผลักไส มันก็ยิ่งดื้อ ยิ่งท้าทาย ยิ่งต่อต้าน เหมือนกับเด็กวัยรุ่นที่ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ พอมันยังอยู่ ไม่ยอมไป เราก็ยิ่งทุกข์หนักขึ้นเพราะไม่ชอบมัน

    ในสมัยพุทธกาลมีเรื่องราวของพระเถระพระเถรีหลายท่านที่ถึงกับฆ่าตัวตายเพราะไม่พบความสงบในจิตใจ ท่านอุตส่าห์บวชเพื่อดับทุกข์ แต่พอมีความทุกข์เกิดขึ้น ไม่ได้ทุกข์ที่ไหน ทุกข์ที่ใจ คือใจไม่สงบ ใจฟุ้งซ่าน ท่านยอมรับไม่ได้ ก็เลยท้อในการปฏิบัติธรรม ถึงกับฆ่าตัวตาย แขวนคอบ้าง เอามีดกรีดคอบ้าง แต่กลับบรรลุธรรมในที่สุด เพราะว่าตอนที่กำลังจะตายนั้น เจ็บปวดมาก จึงได้เห็นธรรมว่าสังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง พอเห็นเช่นนั้นก็ปล่อยวาง ไม่ยึดในสังขารนี้ต่อไป ยอมรับความทุกข์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น จิตก็หลุดพ้นในขณะที่สิ้นลม จะเห็นได้ว่าการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะนั้นสำคัญมาก ถ้าไม่ยอมรับ แม้แต่เรื่องเล็กน้อยก็ทำให้ทุกข์ทรมานใหญ่หลวงได้

    มีพระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมมาก อยากให้จิตตื่น อยากได้ความรู้สึกตัว แต่ปฏิบัติมาหลายปีก็ยังไม่รู้สึกว่าจิตตื่น ที่จริงจิตของท่านไม่ได้ย่ำแย่กว่าจิตของคนอื่น อาจจะดีกว่าจิตของคนที่ไม่ได้ปฏิบัติด้วยซ้ำ แต่มันไม่ดีอย่างที่ท่านคาดหวัง เมื่อได้ยินคนนั้นคนนี้บอกว่าจิตเขาตื่น รู้สึกตัวชัดเจน เห็นรูปนาม แต่ตัวเองยังไม่เห็น จึงเป็นทุกข์มาก หน้าตาหม่นหมอง ตัดพ้อว่าตัวเองทำความดี ให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมมาเป็นสิบ ๆ ปี ทำไมไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติ ฟังน้ำเสียงแล้วท่านท้อแท้กับการปฏิบัติมาก หรือถึงกับท้อแท้ในการบวช ดูแล้วมีความคิดอยากจะสึกด้วยซ้ำ อาตมาเห็นท่านแล้วรู้สึกว่า ท่านมีความทุกข์ไม่ต่างจากวัยรุ่นที่กลุ้มใจเพราะหน้ามีสิว ทั้งสองคนมีความท้อแท้ในชีวิต กลุ้มอกกลุ้มใจเหมือนกันเลย ทั้งที่สาเหตุนั้นต่างกันอย่างฟ้ากับดิน คนหนึ่งทุกข์เพราะมีสิว อีกคนหนึ่งทุกข์เพราะจิตไม่ตื่น ไม่มีความรู้สึกตัว หรือไม่สงบอย่างที่คาดหวัง ทั้งหมดนี้เป็นอาการของคนที่ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น เมื่อใจปฏิเสธเหมือนกัน ความทุกข์หรืออากัปกิริยาที่แสดงออกก็เหมือนกัน คือ ท้อแท้ หดหู่ เครียด มีโทสะอยู่ข้างในลึก ๆ

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับเราแล้ว อย่าคิดแต่จะหนี ปฏิเสธ หรือผลักไส แต่ควรเริ่มต้นด้วยการยอมรับมันให้ได้ ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ป่วยการที่จะตีโพยตีพาย ลองวางใจเป็นกลาง ฟุ้งซ่านก็รู้ เครียดก็รู้ ดูมันเฉย ๆ อย่าเป็นศัตรูหรือเป็นปฏิปักษ์กับมัน ยอมรับมันให้ได้ ยอมรับไม่ได้แปลว่ายอมจำนน มันต่างกัน เหมือนกับเวลาเจ็บป่วย อย่างแรกที่ต้องทำคือยอมรับว่าเราป่วยแล้ว อย่ามัวโอดโอยหรือตีโพยตีพายว่าทำไมต้องเป็นฉัน ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมจำนน คือหาทางรักษาความเจ็บป่วยนั้น เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องรักษา เมื่องานล้มเหลวก็ต้องแก้ไข แต่ก่อนอื่นต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน อันนี้เรียกว่า “ทำจิต” ส่วนการรักษาหรือการแก้ไขนั้น เรียกว่า “ทำกิจ”

    อะไรที่รักษาได้ บรรเทาได้ เราควรทำ แต่อะไรที่ทำไม่ได้แล้ว เช่นการสูญเสียคนรัก เขาตายจากไป ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ เราก็ต้องยอมรับอย่างเดียว ทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เขา หรือว่าเอาสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขามาเป็นบทเรียนในการดำเนินชีวิต หรือพยายามสืบสานคุณงามความดีของเขาให้ยั่งยืน หรือประกาศความดีของเขา ให้ขจรขจาย นี่คือสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ว่าต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความจริงก่อน

    ผู้หญิงคนหนึ่งสูญเสียสามีแล้วไม่ยอมรับความจริง ยังทำอาหารเช้าให้สามีกิน เอามาวางไว้บนโต๊ะตรงที่เขาเคยนั่งประจำ โทรศัพท์เข้าเบอร์เขาทุกวัน ทุกข์มากเพราะไม่ยอมรับความจริงว่าเขาตายไปแล้ว แต่พอยอมรับความจริงได้ ความทุกข์ก็จะหลุดออกไปทันที เพราะฉะนั้นการฝึกใจให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือการวางใจให้เป็นกลาง ไม่เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นนอกตัวเรา หรือว่าเกิดขึ้นกับตัวเรา กับใจของเรา เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่เราควรฝึกให้เป็นนิสัย จะช่วยให้เราสามารถรับมือความทุกข์ต่าง ๆ ได้ด้วยใจที่โปร่งเบา

    :- https://visalo.org/article/suksala22.htm
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,547
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,070
    หวงแหน
    ภาวัน

    สมมติว่าคุณมีเงิน ๑,๐๐๐ บาท คุณจะเลือกข้อใด หากต้องเลือก ๑ ใน ๒ ข้อนี้

    ก) คุณได้เงิน ๑๐๐ บาท
    ข)โยนเหรียญ ถ้าคุณชนะ คุณได้ ๒๐๐ บาท แต่ถ้าแพ้ คุณไม่ได้เลยสักบาท
    ถ้าคุณเลือกข้อ ก) คุณก็คิดเหมือนคนส่วนใหญ่
    ทีนี้ถ้าเงื่อนไขเปลี่ยนไป คุณจะเลือกข้อใด
    ค) เสียเงิน ๑๐๐ บาท
    ง)โยนเหรียญ ถ้าคุณแพ้คุณเสีย ๒๐๐ บาท แต่ถ้าชนะ คุณไม่เสียเลยสักบาท
    ถ้าคุณเลือกข้อ ค)คุณจัดอยู่ในคนส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่เลือกข้อ ง)


    การทดลองหลายครั้ง ให้ผลตรงกัน สิ่งที่น่าคิดก็คือ ทำไมคนส่วนใหญ่ไม่ชอบเสี่ยงดวงในกรณีที่เป็นฝ่ายได้ แต่กลับยอมเสี่ยงดวงหากถึงคราวที่จะต้องเสีย คำตอบก็คือ เป็นเพราะคนเรานั้นไม่ชอบความสูญเสีย หากจะต้องสูญเสีย ก็พร้อมที่จะเสี่ยงแม้นั่นหมายความว่าอาจมีโอกาสสูญเสียมากกว่าเดิม ตรงกันข้ามหากเป็นเรื่องของการได้มา เราชอบอะไรที่เป็นของตายมากกว่าที่จะเสี่ยงแม้มีโอกาสได้มากกว่าเดิม

    พูดอีกอย่างคือ มนุษย์เรารังเกียจความสูญเสีย และพร้อมที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อปกป้องสิ่งที่มีอยู่ทั้ง ๆ ที่มันอาจทำให้สูญเสียหนักกว่าเดิม นี้คือคำตอบว่าทำไมคนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมขายหุ้นทั้ง ๆ ที่ราคาตกลงไปเรื่อย ๆ เพราะคิด(และหวัง)ว่ามีโอกาสที่ราคาหุ้นจะกระเตื้องขึ้น ทั้ง ๆ ที่หากไตร่ตรองงอย่างรอบด้านแล้ว หุ้นมีโอกาสน้อยมากที่จะปรับตัวสูงขึ้น แต่ด้วยความเสียดายเงินที่ลงไป ทำให้ผู้คนพร้อมจะเสี่ยง ซึ่งมักลงเอยด้วยการที่เขาสูญเงินไปจนหมดเมื่อหุ้นนั้นกลายเป็นขยะ

    ในทำนองเดียวกันคนที่เสียเงินจากการเล่นพนัน จะไม่ค่อยยอมหยุดเล่น แต่อยากเล่นต่อเพื่อเอาเงินคืน ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสที่เขาจะสูญเสียหนักกว่าเดิม ผลก็คือยิ่งเล่นก็ยิ่งเสีย และยิ่งเสียก็ยิ่งต้องเล่นต่อ จนลงเอยด้วยความหมดตัว ทั้ง ๆ ที่หากเขาหยุดเล่นแต่เนิ่น ๆจะไม่เสียหนักขนาดนั้น

    นิสัยที่รังเกียจความสูญเสียจนพร้อมจะทำอะไรก็ได้เพื่อไม่ให้สูญเสียนั้น ก่อความพินาศให้แก่ผู้คนเป็นอันมาก วิกฤตเศรษฐกิจปี ๔๐ เกิดขึ้นก็เพราะเหตุนี้ คงจำได้ว่าตอนที่มีการโจมตีเงินบาทนั้น รัฐบาลไทยไม่ยอมลดค่าเงินบาทแต่เนิ่น ๆ แต่พยายามต่อสู้ด้วยการทุ่มเงินตราต่างประเทศเพื่อพยุงเงินบาทเอาไว้ สุดท้ายก็ยอมรับว่าสู้ไม่ได้ และต้องลดค่าเงินบาทตามกลไกตลาด แต่ถึงตอนนั้นทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก็ร่อยหรอแล้ว ทำให้ค่าเงินบาทตกกราวรูด ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลตามมา สถานการณ์จะไม่เลวร้ายขนาดนั้นหากรัฐบาลพร้อมยอมรับความสูญเสียตั้งแต่แรก ๆ

    อย่างไรก็ตามนิสัยนี้หากรู้จักใช้ ก็สามารถก่อให้เกิดผลดีได้ ริชาร์ด ทาเลอร์ นักจิตวิทยาชื่อดังชาวอเมริกันพูดถึงเพื่อนคนหนึ่งชื่อเดวิด ซึ่งถูกว่าจ้างเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยมีเงื่อนไขว่าเขาต้องทำปริญญาเอกให้จบก่อนเข้าทำงาน หรืออย่างช้าก็ต้องทำให้เสร็จภายใน ๑ ปีที่ทำงาน ผลดีที่จะเกิดขึ้นกับเดวิดจากการทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จนั้นมีมากมาย เช่น ได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (แทนที่จะเป็นแค่ ผู้ช่วยสอน) ได้รับเงินสมทบสำหรับบำนาญ จำนวน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน หรือหลายพันดอลลาร์ต่อปี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแรงจูงใจให้เขาทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จทันเวลา แต่ปรากฏว่าวิทยานิพนธ์ของเขาคืบหน้าช้ามาก เขาผัดผ่อนครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งนี้เป็นเพราะเขาเอาเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่น่าสนใจกว่าการทำวิทยานิพนธ์

    ทาเลอร์อยากช่วยเดวิด จึงมีข้อเสนอว่า เดวิดจะต้องเซ็นเช็ค ๑๐๐ ดอลลาร์ให้เขา โดยสั่งจ่ายในวันที่ ๑ ของทุกเดือนนับแต่นี้ไป เงื่อนไขมีอยู่ว่าทาเลอร์จะนำเช็คนั้นไปขึ้นเงินหากเดวิดไม่นำเอาวิทยานิพนธ์บทใหม่มาสอดใต้ประตูของเขาภายในเที่ยงคืนของวันสิ้นเดือน เงินที่ได้จากเดวิดนั้น ทาเลอร์จะนำไปจัดปาร์ตี้ซึ่งเดวิดจะไม่ได้รับเชิญ

    ปรากฏว่า เดวิดสามารถทำวิทยานิพนธ์เสร็จ ๔ เดือนหลังจากนั้น โดยไม่เคยผิดนัดเลย

    วิธีนี้ได้ผลเพราะเดวิดไม่อยากเสียเงิน ๑๐๐ ดอลลาร์ทุกเดือน ทั้ง ๆ ที่เงินจำนวนนี้นับว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินที่เขาจะได้รับจากมหาวิทยาลัยหากทำวิทยานิพนธ์เสร็จ

    เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า ได้เงินเท่าใดก็ไม่กระตุ้นให้คนเราขยันมากเท่ากับการที่จะต้องสูญเงินไปแม้ไม่มากก็ตาม

    ใครที่สัญญากับตัวเองแล้ว ทำไม่ได้สักที เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ หรืองดเหล้า ลองเอาวิธีนี้ไปปรับใช้ดูน่าจะดี เช่น ถ้าไม่ทำตามที่สัญญา ก็ปรับตัวเอง ด้วยการบริจาคเงินให้มูลนิธิสาธารณกุศล ส่วนพ่อแม่ที่เหนื่อยหน่ายกับลูกที่ชอบโยกโย้ แทนที่จะกระตุ้นด้วยการให้รางวัล ก็ลองใช้วิธีปรับเงินลูก อาจจะได้ผลก็ได้
    :- https://visalo.org/article/Image255505.htm

    duckswalking.gif
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 24 เมษายน 2025 at 00:05
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,547
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,070
    อย่าร้องไห้เมื่ออาทิตย์ลับฟ้า
    ภาวัน
    กอลเป็นเมืองริมทะเลตอนใต้ของศรีลังกาที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเยือน จุดเด่นอย่างหนึ่งของเมืองนี้คือป้อมปราการอันแข็งแรงที่ฮอลันดาได้มาสร้างไว้เมื่อ ๔๐๐ ปีก่อน ภายในป้อมเป็นเมืองน้อย ๆ มีอาคารโบราณมากมาย ทุกวันนี้ยังมีสภาพดีและได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

    กอลเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของเขาก่อนเข้ากรุงโคลอมโบเพื่อบินกลับเมืองไทย เช้าวันนั้นเขาอยู่ที่เมืองนูวาราเอเลีย อันเป็นเมืองท่องเที่ยวลือชื่ออีกแห่งหนึ่งที่มีกลิ่นอายแบบอังกฤษ เนื่องจากเคยเป็นเมืองพักตากอากาศของชาวผู้ดีสมัยยึดครองเกาะนี้ มัคคุเทศก์ชาวศรีลังกาบอกเขากับคณะว่าใช้เวลาเดินทางหกชั่วโมงก็จะถึงเมืองกอล

    คณะของเขาออกเดินทางตั้งแต่แปดโมงครึ่ง ลัดเลาะไปตามไหล่เขา มีทัศนียภาพที่งดงามชวนชื่นชมตลอดทาง นอกจากไร่ชาเขียวสดที่เรียงรายเป็นพืดทั่วทั้งเขาแล้ว ยังมีน้ำตกตระการตาปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ บางช่วงคณะของเขาก็แวะพักกินอาหาร หรือซื้อชาจากร้านริมทาง แต่ละแห่งใช้เวลาสบาย ๆ ไม่เร่งรีบ กะว่าถึงเมืองกอลก็คงไม่เกินบ่ายสี่ มีเวลาได้พักผ่อนริมทะเลอีก

    แต่ไป ๆ มา ๆ การเดินทางกลับใช้เวลานานกว่าที่คิด ดวงอาทิตย์ใกล้ตกแล้วคณะของเขาก็ยังไม่ถึงเมืองกอล แต่เขาก็ไม่วิตกกังวลอย่างใด เพราะตอนนั้นกำลังชื่นชมความงดงามของอาทิตย์ดวงกลมโตที่ใกล้ลับขอบฟ้าจากหน้าต่างรถยนต์

    คณะของเขามาถึงเมืองกอลหลังจากอาทิตย์ตกไม่นาน พอมาเห็นแสงสุดท้ายฉาบฟ้าเหนืออ่าวกอล โดยมีชายหาดทอดยาวสุดสายตาอยู่เบื้องหน้า เขาก็รู้สึกเสียดายอย่างมากที่มาไม่ทันเห็นอาทิตย์ตกลับมหาสมุทรอินเดีย หากเขามาเร็วกว่านี้แค่ครึ่งชั่วโมงก็ต้องได้เห็นภาพที่งดงามสุดบรรยายอย่างยิ่ง ซึ่งอาจเป็นครั้งเดียวในชีวิตก็ได้

    เขานึกตำหนิคนขับรถทันทีที่ใช้เวลาเกือบสิบชั่วโมงกว่าจะถึงเมืองกอล อีกคนที่ต้องรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือมัคคุเทศก์ เขาน่าจะรู้ว่าอาทิตย์ตกที่เมืองกอลนั้นวิเศษเพียงใด ถ้าเขานึกถึงประโยชน์ของลูกทัวร์ก็ไม่ควรปล่อยให้โชเฟอร์ขับรถหวานเย็นจนเกินเวลาขนาดนั้น หรืออย่างน้อยก็บอกให้เรารู้ว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองกอลก็คืออาทิตย์ยามเย็น

    กระทั่งเข้าห้องพักแล้วเขาก็ยังรู้สึกหงุดหงิดที่พลาดโอกาสอันวิเศษนั้นไป ในใจนึกถึงแต่ว่า ฉันน่าจะมาถึงเร็วกว่านี้ ๆ ๆ ทำไมฉันถึงโชคไม่ดีเอาเสียเลย แต่แล้วชั่วขณะหนึ่งเขาก็ได้คิดว่า จะมัวเสียใจไปไยกับสิ่งที่พลาดไปแล้ว ในเมื่อยังมีสิ่งงดงามอีกมากมายให้ชื่นชมอยู่รอบตัว เขาเหลียวมองไปบนฟ้า เห็นพระจันทร์เต็มดวงทอแสงสุกสว่าง มองมาข้างล่างเห็นเกลียวคลื่นระยิบระยับล้อแสงจันทร์ พรุ่งนี้เช้าก็ยังจะได้เห็นอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ ซึ่งก็คงงดงามไม่น้อย จะมีกี่คนที่มีโอกาสดี ๆ อย่างเขา พอได้คิดแบบนี้ ความหงุดหงิดเสียใจก็หายไปทันที ใจเปิดรับและชื่นชมความงดงามที่มีอยู่รอบตัวทันที

    ความสุขได้กลับคืนมาสู่จิตใจของเขา เมื่อหันมาใส่ใจกับปัจจุบัน ไม่มัวจมจ่อมอยู่กับอดีต เขาได้ตระหนักว่า แทนที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เสียไป เพียงแค่หันมาชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่รอบตัว ความสุขก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ใช่หรือไม่ว่าผู้คนจำนวนมากทั้ง ๆ ที่มีอะไรต่ออะไรมากมาย แต่ก็ยังเป็นทุกข์ ก่นด่าชะตากรรม เพราะมัวแต่นึกถึงสิ่งที่หลุดลอยไป ใจที่เอาแต่เศร้าซึมเสียใจทำให้เขามองข้ามสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ต่อหน้าไปอย่างน่าเสียดาย กลายเป็นว่าแทนที่จะเสียหนึ่ง ก็เสียสองหรือสามซ้ำเข้าไปอีก

    นักท่องเที่ยวบางคนโมโหที่ถูกแขกโกงขณะที่แลกเงิน เขาเอาแต่ขุ่นเคืองจนกินอะไรก็ไม่อร่อย ไปเห็นทัชมาฮาลก็ไม่รู้สึกว่างดงาม ทั้ง ๆ ที่นั่นคือไฮไลท์ของการท่องเที่ยวของเขา เพียงเพราะเสียดายเงินไม่กี่ร้อยรูปีที่ถูกโกงไป ทำให้เขาไม่รับรู้ความงดงามที่อยู่เบื้องหน้าเขาเลย หรือถึงกับทำให้การท่องเที่ยวของเขาหมดรสชาติไป

    มีคนหนึ่งกล่าวไว้น่าฟังมากว่า “อย่าร้องไห้เมื่อดวงอาทิตย์ลับฟ้า เพราะน้ำตาจะทำให้เธอมองไม่เห็นดวงดาว” อะไรที่เสียไปแล้วป่วยการที่จะอาลัยอาวรณ์ หันมาใส่ใจกับสิ่งดี ๆ มีคุณค่า ตรงนี้และเดี๋ยวนี้ไม่ดีกว่าหรือ

    :- https://visalo.org/article/Image255703.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...