บทความให้กำลังใจ(เป็นสุขท่ามกลางความทุกข์)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,456
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,068
    สุขภาพกับมิติทางสังคมและจิตใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    สุขภาพของบุคคลแม้กระทั่งในทางกายนั้น ผูกพันแนบแน่นกับสุขภาวะทางใจและทางสังคม จิตใจที่แช่มชื่น เป็นสุข ไม่เครียด ความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ไม่ร้าวฉาน เป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพของบุคคล หากมีปัญหาทางจิตใจและความสัมพันธ์ทางสังคมแล้ว บุคคลก็สามารถล้มป่วยได้ โดยที่การล้มป่วย (illness)นั้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับโรค (disease) เลย ด้วยเหตุนี้ การปลอดโรคจึงไม่ใช่หลักประกันแห่งสุขภาพอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้ไม่เป็นโรค แต่ก็อาจล้มป่วยได้ด้วยสาเหตุทางจิตใจและความสัมพันธ์ทางสังคม ทัศนะที่ว่า สุขภาพหมายถึงการปลอดโรค จึงไม่ครอบคลุมเพียงพอ นอกจากจะเน้นเฉพาะมิติทางกายภาพแล้ว ยังเป็นการมองสุขภาพในเชิงลบ เพราะสุขภาพที่แท้จริงเกิดจากสภาวะที่เป็นบวกทั้งในทางกาย ใจ และสังคม คือร่างกายแข็งแรง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดี ใจเป็นสุข แช่มชื่น รู้จักมองในแง่บวก ส่วนความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็เป็นไปอย่างราบรื่น กลมเกลียวกัน

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อล้มป่วย สิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการรักษาก็คือการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง เช่น การกินที่ถูกสุขลักษณะและสมดุล ห่างไกลจากยาเสพติดและสารพิษ การนอนและพักผ่อนอย่างพอเพียง รวมทั้งการอยู่ในสถานที่เอื้อต่อสุขภาพ มีอากาศและน้ำสะอาด ไม่อุดอู้ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อการฟื้นฟูและรักษาร่างกาทั้งระบบให้เป็นไปด้วยดี

    แต่การรักษาทางกายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาแบบองค์รวมเท่านั้น สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกันคือการเยียวยารักษาทางใจและทางสังคม ความเครียด วิตกกังวล ความเศร้าโศก ผิดหวัง ท้อแต้ การคิดเอาแต่ได้ ไม่ยอมปล่อยวาง มีผลบั่นทอนสุขภาพเช่นเดียวกับความเหงา ว้าเหว่ หรือความร้าวฉานกับผู้อื่น

    การวิจัยตลอด ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาได้ชี้ว่า มีหลายโรคที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและความสัมพันธ์กับผู้คน ที่ชัดเจนได้แก่โรคหัวใจ คนที่มักโกรธ เครียดจัด มุ่งมั่นเอาชนะ ไม่ยอมแพ้ มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนที่มีจิตใจผ่อนคลาย เมื่อปี ๒๕๓๘ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการศึกษาคนไข้โรคหัวใจขาดเลือดจำนวนกว่า ๑,๖๐๐ คน พบว่าคนที่ไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ มีอัตราการกำเริบของโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าถึง ๒ เท่าเมื่อเทียบกับคนที่มีอารมณ์สงบและสามารถควบคุมตนเองได้ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบว่าการจัดการกับความเครียดที่ไม่เหมาะสมเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการตายมากกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก
    ป่วยเพราะโกรธ
    หญิงสาวคนหนึ่งมีอาการปวดท้องและปวดหัวเรื้อรัง ทั้งยังมีความดันโลหิตสูงด้วย ไปหาหมอครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่มีอาการดีขึ้น น่าแปลกก็คือหมอหาสาเหตุของโรคไม่พบ ร่างกายของเธอเป็นปกติทุกอย่าง สุดท้ายหมอก็ถามเธอว่า “ชีวิตของคุณเป็นอย่างไรบ้าง เล่าให้ผมฟังหน่อยสิ”

    แล้วหญิงผู้นั้นก็เล่าชีวิตของเธอให้ฟัง หมอสะดุดใจเมื่อเธอเล่าว่ามีเรื่องบาดหมางกับพี่สาวสองคน เพราะทั้งสองทิ้งเธอให้ต่อสู้กับปัญหาตามลำพังเมื่อหลายปีก่อน
    หมอสงสัยว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นต้นเหตุให้เธอเจ็บป่วยเรื้อรัง คำแนะนำของหมอก็คือ เธอควรยกโทษให้พี่สาวทั้งสอง
    หญิงสาวคงนึกไม่ถึงว่าจะได้รับคำแนะนำเช่นนี้จากหมอ แต่หลายปีต่อมาหมอก็ได้รับจดหมายจากคนไข้คนนี้ว่า เธอคืนดีกับพี่สาวแล้ว และอาการเจ็บป่วยเรื้อรังก็หายเป็นปลิดทิ้ง
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,456
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,068
    (ต่อ)
    ความขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ใช่เป็นแค่อารมณ์ที่มาแล้วก็ผ่านไปดังสายลม บ่อยครั้งมันถูกเก็บสะสมและหมักหมมจนไม่เพียงทำให้ร้าวรานใจเท่านั้น หากยังบั่นทอนร่างกายจนเจ็บป่วยเรื้อรังดังหญิงสาวผู้นี้

    อารมณ์ที่หมักหมมเรื้อรังนั้นมีพิษต่อจิตใจและร่างกายอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง เราจำเป็นต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ไม่ให้หมักหมมเรื้อรัง สำหรับอารมณ์ขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ คงไม่มีวิธีการใดดีกว่าการให้อภัย ดังที่หญิงสาวผู้นี้ได้ค้นพบด้วยตัวเอง

    จิตผ่อนคลาย กายฟื้นฟู

    ในขณะที่ความเครียดและความวิตกกังวลมีผลในการก่อโรค ความรู้สึกผ่อนคลาย แช่มชื่นเบาสบาย ไร้วิตกกังวล ก็ย่อมช่วยให้สุขภาพดีขึ้น หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้เร็วขึ้น หรือมีอายุยืน มีการวิจัยเป็นอันมากที่ยืนยันเรื่องนี้ เมื่อปี ๒๕๔๐ ได้มีการศึกษาผู้มีอายุระหว่าง ๕๕-๘๕ ปีจำนวนกว่า ๒,๘๐๐ คนในอเมริกา พบว่าคนที่รู้สึกว่าควบคุมชีวิตตนได้มีอัตราการตายน้อยกว่าคนที่รู้สึกท้อแท้กับชีวิตถึงร้อยละ ๖๐ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มองโลกในแง่ดีหรือสามารถจัดการกับความโกรธได้ดีมีแนวโน้มที่จะอยู่ยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่มีความเครียดหรือเก็บกดความโกรธเอาไว้

    นอกจากจิตใจที่สงบ ผ่อนคลายแล้ว ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็มีผลต่อสุขภาพมาก เคยมีการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ทั้ง ๒ กลุ่มได้รับการศึกษาตามมาตรฐานการแพทย์แผนใหม่ทุกประการ แต่กลุ่มที่หนึ่งนั้นมีการพบปะพูดคุยกันระหว่างคนไข้ และช่วยเหลือกันตามโอกาส โดยทำเช่นนี้สม่ำเสมอสัปดาห์ละ ๙๐ นาที ต่อเนื่องนาน ๑ ปี อีกกลุ่มไม่มีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม ปรากฏว่าอัตราการอยู่รอดของกลุ่มแรกมากเป็น ๒ เท่าของกลุ่มที่สอง และยังพบอีกว่าในกลุ่มที่สองนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ๕ ปี ไม่มีผู้ป่วยคนใดมีชีวิตรอดเลย

    มิตรภาพสร้างสุขภาพ

    ชายผู้หนึ่งถูกโรคหัวใจคุกคาม ตอนนั้นเขากำลังทำเรื่องขอหย่าจากภรรยาอยู่พอดี หลังจากแยกทางกันเขาก็อยู่คนเดียว แทบจะเก็บตัวก็ว่าได้ เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อสู้กับโรคหัวใจ เช่นคุมอาหาร เลิกบุหรี่ และออกกำลังกายมากขึ้น แต่เมื่อได้อ่านงานวิจัยล่าสุดก็พบว่าเพียงเท่านั้นยังไม่พอ คนที่ซึมเศร้าและเปล่าเปลี่ยวอ้างว้างอย่างเขามีโอกาสตายภายใน๖เดือนได้มากกว่าคนทั่วไปถึง ๔ เท่า

    ดังนั้นเขาจึงเริ่มพบปะผู้คนมากขึ้น ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งช่วยงานอาสาสมัครมากขึ้น ปรากฏว่าสุขภาพของเขาดีขึ้นเป็นลำดับ ไม่ใช่แค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่รวมถึงสุขภาพใจด้วย การเปิดใจเข้าหาผู้คนและช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่นทำให้เขามีความสุขยิ่งกว่าก่อนเป็นโรคหัวใจเสียอีก
    เปิดปากเปิดใจ

    การมีสัมพันธภาพกับผู้คนนั้น แม้จะนำความสุขมาให้ แต่บ่อยครั้งก็อาจก่อให้เกิดความเครียดได้หากวางใจไม่ถูกต้อง ดังจะพบว่าปัญหาความกินแหนงแคลงใจและความร้าวฉานมักเกิดจากความเข้าใจผิด และความเข้าใจผิดมีจุดเริ่มต้นจากการด่วนสรุปและไม่สืบสาวหาความจริง ทั้ง ๆ ที่เพียงแค่เปิดปากซักถาม ความจริงก็ปรากฏ

    ไม่ว่าในครอบครัว หรือที่ทำงาน การรู้จักเปิดปากซักถามเป็นวิธีป้องกันความเข้าใจผิด และสกัดกั้นมิให้เกิดอารมณ์อกุศลได้เป็นอย่างดี แต่เท่านั้นคงไม่พอ นอกจากการเปิดปากซักถามแล้ว บางครั้งมีความจำเป็นที่ต้องมีการเปิดปากเล่าความในใจด้วย สาเหตุที่ความไม่พอใจสะสมมากขึ้นเพราะเราไม่กล้าเล่าความในใจให้อีกฝ่ายรับรู้ ว่ารู้สึกข้องขัดอย่างไรบ้าง การปิดปากเงียบ ทำให้อารมณ์คุกรุ่นจนอาจระเบิดออกมา และก่อความเสียหายอย่างคาดไม่ถึง

    ในการอยู่ร่วมกัน เราควรส่งเสริมซึ่งกันและกันให้พร้อมที่จะเปิดปากซักถามเมื่อมีความสงสัยไม่แน่ใจ หรือเปิดปากเล่าความในใจเมื่อมีความขุ่นข้องหมองใจกันขึ้นมา แต่จะทำเช่นนั้นได้ทุกฝ่ายต้องพร้อมเปิดใจรับฟังสิ่งที่อาจไม่ถูกใจ หรือไม่ตรงกับความคิดของตน การเปิดใจรับฟังอย่างมีสติ และความเห็นอกเห็นใจ จะช่วยให้ผู้คนพร้อมเปิดปากซักถามและเล่าความในใจได้อย่างเต็มที่ แล้วเราอาจพบว่าปัญหานั้นแก้ได้ไม่ยากเลย ใช่หรือไม่ว่าปัญหาเล็ก ๆ ลุกลามจนเป็นเรื่องใหญ่ได้ก็เพราะการไม่เปิดปากเปิดใจให้แก่กันและกัน

    การเปิดปากเปิดใจไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใส่อารมณ์เข้าหากัน หากทุกฝ่ายมีสติรักษาใจ หรือแม้นว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีสติ แต่ถ้าคนหนึ่งมีสติ ตั้งอยู่ในความนิ่งสงบ ก็สามารถช่วยลดทอนอารมณ์ของผู้อื่นได้ ขอให้คน ๆ นั้นเริ่มต้นที่ตัวเรา ที่เหลือก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญอีกต่อไป
    :- https://visalo.org/article/healthsukapabkabMiti.htm

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,456
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,068
    เป็นสุขท่ามกลางความทุกข์
    พระไพศาล วิสาโล
    คนเรามักอยู่ด้วยความรู้สึก คือปล่อยให้ความชอบ-ไม่ชอบมาเป็นตัวกำหนดชีวิตของตน โดยที่ความชอบ-ไม่ชอบนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ามันให้ความสุขและสะดวกสบายแก่ตนหรือไม่ อะไรก็ตามที่ให้ความสะดวกสบายหรือความสุขแก่ตน ก็อยากได้อยากหามาครอบครอง ส่วนมันจะเป็นประโยชน์หรือเป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่ ไม่สนใจ ในทางตรงข้าม อะไรก็ตามที่ทำให้ตนสะดวกสบายน้อยลงหรือเกิดความยากลำบาก ก็อยากผลักไสออกไป ไม่อยากเกี่ยวข้องด้วย แม้มันจะมีประโยชน์ก็ตาม เด็กจึงเลือกเที่ยวเล่นมากกว่านั่งทำการบ้าน ส่วนผู้ใหญ่ก็ชอบสุมหัวคุยกันหรือดูหนังฟังเพลงมากกว่าจะทำงานอย่างตั้งใจ

    การปล่อยให้ความรู้สึกมาครอบงำชีวิตของตน แท้จริงก็คือการปล่อยให้อัตตามาครองใจ เพราะอัตตาไม่ได้สนใจอะไรนอกจากสิ่งที่จะตอบสนองความอยากได้ใคร่เด่นที่ไม่เคยพอเสียที เจออะไรที่ไม่ถูกใจจึงโกรธแม้จะเป็นเรื่องธรรมดาหรือมีประโยชน์ก็ตาม ดังนั้นแค่เจอไฟแดง รถติด ฝนตก เพื่อนร่วมงานไม่ทักทาย พ่อแม่แนะนำตักเตือน อัตตาก็ขุ่นเคืองใจแล้ว ถ้าเราปล่อยให้มันครองใจ เราก็ต้องทุกข์ไม่หยุดหย่อน เพราะชีวิตนี้ทั้งชีวิตเราย่อมต้องเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจเราอยู่เสมอ ถึงแม้จะร่ำรวย ยิ่งใหญ่ หรือมีอำนาจมากมายเพียงใด เราก็ไม่สามารถบัญชาหรือควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจเราได้ตลอดเวลา


    ความจริงที่ทุกชีวิตหลีกหนีไม่พ้นก็คือ ต้องประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา และพลัดพรากจากสิ่งพึงปรารถนา อยู่เป็นนิจ รวยแค่ไหนก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย เก่งแค่ไหนก็ต้องมีวันประสบความล้มเหลว ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ต้องพลัดพรากจากคนรักไม่ช้าก็เร็ว คนที่ปล่อยให้ชีวิตจิตใจเป็นไปตามความรู้สึก ย่อมหาความสุขได้ยาก

    แต่คนเราไม่จำเป็นต้องทุกข์ไปตามเหตุการณ์ที่มากระทบเสมอไป หากเราเป็นอยู่ด้วยปัญญา ไม่เอาความรู้สึกเป็นใหญ่ มีสติรู้เท่าทันอัตตา ไม่ปล่อยให้มันครองใจ เราก็สามารถทำใจให้เป็นปกติได้แม้ในยามที่ประสบกับสิ่งที่เป็นลบในสายตาของคนทั่วไป เช่น เมื่อถูกตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ หากเราปล่อยให้อัตตาเป็นใหญ่ในใจ เราก็จะรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า “กูถูกเล่นงาน” หรือ “กูเสียหน้า” ผลคือเกิดความโกรธและตอบโต้กลับไป ซึ่งอาจทำให้ถูกวิจารณ์กลับมาหนักขึ้น ในทางตรงข้าม หากเรามีสติทันท่วงทีและสามารถดึงปัญญาออกหน้า เราก็จะหันมาใคร่ครวญว่าสิ่งที่เขาพูดมานั้นเป็นความจริงหรือไม่ มีประโยชน์เพียงใด มันอาจช่วยให้เราเห็นข้อบกพร่องของตัวเองชัดขึ้น หรือไม่ก็เผยให้เห็นตัวตนของผู้พูด ทำให้เรารู้จักเขามากขึ้น ผลคือนอกจากเราจะฉลาดมากขึ้นแล้ว จิตใจยังไม่ร้อนรุ่มหรือทุกข์เพราะคำวิจารณ์นั้น

    หากเราดำเนินชีวิต ทำกิจวัตรประจำวัน และทำงานด้วยความใส่ใจ โดยไม่มุ่งหวังเพียงแค่ทำงานให้เสร็จหรือให้ดีเท่านั้น หากยังถือว่าเป็นการฝึกฝนจิตใจหรือขัดเกลาตนเองไปด้วย เช่น ฝึกให้มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ ลดละความเห็นแก่ตัว บ่มเพาะเมตตากรุณา ก็จะเป็นการเปิดทางให้ปัญญาเข้ามาแทนที่อัตตา นั่นหมายความว่าเมื่อประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา หรือพลัดพรากจากสิ่งพึงปรารถนา เราก็สามารถรับมือกับมันได้โดยไม่ทุกข์

    ดังได้กล่าวแล้วว่าเราไม่สามารถควบคุมหรือจัดการให้เกิดสิ่งดี ๆ กับเราได้ตลอดเวลา แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดสิ่งแย่ ๆ กับเรา เราสามารถเลือกได้ว่าจะยอมให้มันมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของเราได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งเลือกว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับมันได้ด้วย เช่น จะใช้มันให้เกิดประโยชน์แก่เราอย่างไร แต่ทั้งหมดนี้เราจะเลือกได้ก็ต่อเมื่อมีสติและปัญญา ซึ่งเกิดจากการสะสมในชีวิตประจำวันและการฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

    ขอให้สังเกตว่าเมื่อมีสิ่งแย่ ๆ (หรือสิ่งที่เราไม่ชอบ)เกิดขึ้นกับเรา สิ่งนั้นไม่ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับใจของเราเองที่วางไว้ไม่ถูก ทันทีที่ได้รับการบอกเล่าจากหมอว่าเป็นมะเร็ง หลายคนถึงกับล้มทรุด หมดเรี่ยวแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นมะเร็งแค่ขั้นที่ ๑ หลายคนทำงานด้วยความทุกข์ ไม่ใช่เพราะว่างานที่ได้รับนั้นเป็นงานยาก แต่เป็นเพราะเขาไม่อยากทำงานชิ้นนั้น หรือเพราะไม่พอใจที่เจ้านายเอางานของคนอื่นมาให้เขาทำ ฯลฯ บางคนก็ทุกข์เพราะเพื่อน ๆ ทิ้งงานให้เขาทำคนเดียว ใจที่เอาแต่บ่นว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน ?” “ไม่เป็นธรรม ๆ ๆ ๆ” ทำให้เขาทำงานด้วยความทุกข์ทรมานราวกับตกนรกทั้ง ๆ ที่อยู่ในห้องแอร์

     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,456
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,068
    (ต่อ)

    ตอนหนึ่งของรายการ “พลเมืองเด็ก” ที่ออกอากาศช่องทีวีไทย เด็ก ๓ คนได้รับมอบหมายให้ขนของขึ้นรถไฟ บังเอิญตอนนั้นมีการถ่ายทอดสดการชกของสมจิตร จงจอหอ นักชกเหรียญทองโอลิมปิก เด็กชาย ๒ คนจึงทิ้งงานไปดูโทรทัศน์ข้างสถานีรถไฟ พิธีกรจึงถามเด็กหญิงซึ่งตั้งหน้าตั้งตาขนของอยู่คนเดียวว่า เธอคิดอย่างไรที่เพื่อนทิ้งงาน เธอตอบว่าไม่เป็นไร เห็นใจทั้งสองคนเพราะนาน ๆ จะได้ดูสมจิตรชกมวย พิธีกรถามต่อว่า เธอไม่โกรธหรือไม่คิดไปด่าว่าเพื่อนหรือที่ปล่อยให้เธอทำงานอยู่คนเดียว เธอตอบว่า “หนูขนของขึ้นรถไฟ หนูก็เหนื่อยอย่างเดียว แต่ถ้าหนูโกรธหรือไปด่าว่าเขาหนูก็เหนื่อยสองอย่าง”


    คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเหนื่อยสองอย่าง คือเหนื่อยกายด้วย เหนื่อยใจด้วย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไม่รู้ทันอารมณ์ความรู้สึกของตัว ปล่อยให้ความโกรธหรือหงุดหงิดทำร้ายจิตใจของตน จึงทำงานอย่างไม่มีความสุข จริงอยู่การทิ้งงานให้เราทำคนเดียวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่หากใจเรายึดติดกับ “ความถูกต้อง” หรือ “ความน่าจะเป็น” โดยไม่รู้จักวางเลย ความยึดติดนั้นเองจะกลับมาบั่นทอนทำร้ายจิตใจของเรา เขาไม่ควรทิ้งงานให้เราทำก็จริง แต่นั่นก็ไม่ควรเป็นเหตุผลที่เราจะต้องหันมาซ้ำเติมตัวเอง เหนื่อยใจนั้นไม่มีใครทำให้เราได้ นอกจากเราเอง

    เหตุการณ์แย่ ๆ นั้นทำอะไรเราไม่ได้หากเราไม่ปล่อยให้มันเข้ามาเล่นงานเราถึงจิตถึงใจ แม้แต่ความเจ็บป่วย ก็ทำให้กายทุกข์เท่านั้น แต่ทำใจให้ทุกข์ไม่ได้ เว้นเสียแต่เราจะยอมปล่อยให้ใจทุกข์ไปกับกายด้วย อันที่จริงนอกจากเราเลือกได้ว่าจะปล่อยให้มันมามีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจเราแค่ไหนแล้ว เรายังเลือกว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับมันได้ด้วย เช่น เมื่อเจ็บป่วยเราเลือกได้ว่าจะดูแลรักษาตัวอย่างไรดี แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เรายังทำได้มากกว่านั้น เช่น ใช้มันให้เป็นประโยชน์ หรือหาประโยชน์จากมัน

    บางคนพบว่าเจ็บป่วยก็ดีเหมือนกัน เพราะจะได้พักจากการทำงานที่หนักอึ้ง ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว นอนอ่านหนังสือที่ชอบ หรือหันมาทำสมาธิภาวนา หลายคนถึงกับอุทานว่า “โชคดีที่เป็นมะเร็ง” เพราะมะเร็งทำให้เขาค้นพบความสุขที่แท้อันได้แก่ความสงบทางใจ ผลก็คือชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

    หากเรามีสติและปัญญา ไม่มัวปล่อยใจจ่อมจมอยู่กับความทุกข์ หรือเอาแต่บ่นว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน” เราจะพบว่าเหตุการณ์แย่ ๆ ที่ไม่พึงปรารถนานั้นมีข้อดีอยู่เสมอ บางคนพบว่าการตกงานทำให้เขามีเวลาอยู่กับพ่อแม่และทดแทนพระคุณท่านได้มากขึ้น ธุรกิจที่ล้มละลายผลักดันให้หลายคนเข้าวัดและค้นพบจุดหมายที่แท้ของชีวิต อกหักหรือแยกทางจากคนรักก็ช่วยให้หลายคนพบกับชีวิตที่อิสระและเป็นตัวของตัวเอง

    นอกจากประโยชน์ในเชิงรูปธรรมแล้ว เหตุการณ์แย่ ๆ ทั้งหลายยังมีข้อดีอย่างน้อย ๒ ประการ ได้แก่

    ๑. สอนใจเรา กล่าวคือสอนให้เราตระหนักถึงความจริงของชีวิตซึ่งมีความผันผวนปรวนแปรเป็นนิจ เช่น ของหายก็สอนใจเราว่าความพลัดพรากจากของรักเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราหรือเป็นของเราได้อย่างยั่งยืน การถูกตำหนิก็สอนใจเราว่า สรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน ไม่มีใครที่จะได้รับการสรรเสริญอย่างเดียว ไม่ว่าดีแค่ไหนก็ยังถูกนินทา

    ๒. ฝึกใจเรา เช่น ฝึกใจให้ไม่ประมาท ระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้เหตุร้ายเกิดขึ้นอีก หรือฝึกใจให้ปล่อยวางเพื่อรับมือกับเหตุร้ายที่แรงกว่าในอนาคต (ถ้าโทรศัพท์หายยังปล่อยวางไม่ได้ แล้วจะทำใจได้อย่างไรเมื่อต้องสูญเสียคนรัก เช่น พ่อแม่ ลูกเมีย ซึ่งต้องเกิดขึ้นแน่) หรือฝึกใจให้มั่นคงเข้มแข็ง เพราะเราจะต้องเจออะไรต่ออะไรอีกมากมายในวันข้างหน้า อีกทั้งยังฝึกให้เราฉลาดและมีประสบการณ์มากขึ้น (อย่าลืมว่าคนเราเรียนรู้จากความล้มเหลวได้มากกว่าความสำเร็จ)

    ความฉลาดในการรับมือกับเหตุการณ์แย่ ๆ นั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้จากห้องเรียนหรือจากตำรา แต่เกิดได้เพราะเรียนรู้จากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันและจากการทำงาน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไม่ว่าดีหรือร้าย บวกหรือลบ หากไม่ปล่อยใจไปตามอารมณ์ความรู้สึก คือชอบหรือไม่ชอบ เพลิดเพลินยินดีหรือคร่ำครวญโกรธแค้น แต่มีสติรู้ทันอารมณ์ความรู้สึก และหันมาใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยปัญญา ประโยชน์ย่อมเกิดขึ้นแก่เราเสมอ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เห็นช่องทางที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์ สามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี หรือเปลี่ยนเคราะห์ให้กลายเป็นโชคได้

    ถ้าทำเช่นนั้นได้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา แม้จะเลวร้ายเพียงใด จะมิใช่สิ่งที่ยัดเยียดความทุกข์หรือความปราชัยให้แก่เรา แต่จะกลายเป็นสิ่งที่ฝึกฝนจิตใจเราให้มีสติ ปัญญา และลดละอัตตา ช่วยให้เรามีชีวิตที่โปร่งเบา สงบเย็น และเป็นอิสระจากสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบได้เป็นลำดับ จนในที่สุดก็สามารถอยู่เหนือความทุกข์หรือความผันผวนปรวนแปรทั้งปวงได้ นี้คือสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยของเราทุกคน และควรเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตเราด้วย
    :- https://visalo.org/article/suksala08.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...